“1มหาวิทยาลัย1ภารกิจเพื่อท้องถิ่น”ผสานSoft Power “สุดาวรรณ” ชู“สร้างโอกาส-ความเท่าเทียม-อนาคต”
นี่คือถ้อยแถลงของ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เรื่องนโยบายแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสรร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2568
“1 มหาวิทยาลัย 1 ภารกิจ เพื่อท้องถิ่น” เป็นนโยบายใหม่ของน.ส.สุดาวรรณ ที่ตั้งใจจะทำให้งานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางและเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่และมีมูลค่าสูง ซึ่งต้องอาศัยกำลังคนทักษะสูง การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างผู้ประกอบการหรือ Tech Start-up ให้กับประเทศ
“1 มหาวิทยาลัย 1 ภารกิจ เพื่อท้องถิ่น จะใช้กลไกของ “อว. ส่วนหน้า” ประจำจังหวัดต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่อยู่แล้วเข้าไปประสานกับแต่ละหน่วยงาน ทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย เพื่อดูว่าในแต่ละพื้นที่ที่ตนดูแลหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง มีปัญหาอะไรที่ควรจะเข้าไปดูแลจัดการ โดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าไปช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ปัญหาสภาพดิน ปัญหาโรคพืช ปัญหาแปรรูปสินค้า ปัญหา PM 2.5. ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ ปัญหาขยะ เป็นต้น” น.ส.สุดาวรรณ กล่าว
ขณะเดียวกัน น.ส.สุดาวรรณ ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ด้าน ด้านแรก คือ การพัฒนากำลังคน เน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงอุดมศึกษาของคนในประเทศ พร้อมกับเรื่องการพัฒนากำลังคนของประเทศเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ 1.ส่งเสริมทุนเพื่อการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เช่น การอุดหนุนค่าสมัคร TCAS เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนค่าสมัครสอบในการสอบวัดความถนัดทั่วไป TGAT ในอัตรา 140 บาทต่อคน ค่าสมัครสอบรอบที่ 3 แอดมิชชั่นในระบบ TCAS โดยผู้สมัครสามารถเลือกสมัครได้สูงสุด 7 อันดับฟรี ในอัตรา 600 บาทต่อคน และใน TCAS ปีนี้จะสนับสนุนค่าสมัครสอบวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ TPAT1-5 เพิ่มเติม (TPAT 1 สอบ กสพท. อัตรา 800 บาทต่อคน และ TPAT 2-5 อัตรา 140 บาทต่อคน) ซึ่งคาดว่าจะมีนักเรียนและผู้ปกครองได้รับประโยชน์กว่า 733,750 คน รวมทั้งสนับสนุนทุนเพื่อนักศึกษาพิการ ทุนเพื่อเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุนอื่นๆ อีกจำนวน 7,900 ทุน เช่น ทุนคนพิการ ทุนเพื่อเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ทุนสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุนสำหรับนักศึกษาเรียนดีแต่ยากจน สนับสนุนทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในประเทศ (จังหวัดชายแดนภาคใต้) และจะให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยังมีทุนเพื่อให้โอกาสเรียนปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก สำหรับเด็กเรียนดี จำนวน 2,800 ทุน โดยเน้นการส่งเสริมกำลังคนตามความต้องการของประเทศ และปรับเงื่อนไขการรับทุนการชดใช้ทุนเพื่อให้ผู้รับทุนสามารถสร้างประโยชน์ในภาคเอกชนนอกเหนือจากภาครัฐอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีทุนเพื่อพัฒนากำลังคนเฉพาะทางในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน เช่น ด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ด้าน AI ด้าน EV รวมถึง Soft Power เป็นต้น
ด้านที่สองคือการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งกระทรวง อว.มีกองทุนส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยจะเน้นประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน การจัดสรรทุน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ธุรกิจชุมชน SMEs อุตสาหกรรมสมัยใหม่
“ที่สำคัญต้องนำ ววน.ไปช่วยสนับสนุนภาคเกษตร ให้แข่งขันได้ เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น ตลอดจน ส่งเสริมการวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่และส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของประเทศทั้งจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการสร้างDeep tech start-up ในประเทศ เช่น ด้านยานยนต์สมัยใหม่ อาหารแห่งอนาคต เศรษฐกิจอวกาศ AI เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง” รมว.กระทรวง อว.กล่าวและว่า
ที่สำคัญในฐานะที่เคยเป็น รมว.วัฒนธรรม และมีนโยบายบายขับเคลื่อนด้าน Soft Power มาโดยตลอด ขณะที่ รมว.วัฒนธรรมคนปัจจุบันก็ประกาศนโยบายที่จะผลักดัน Soft Power อย่างชัดเจน ดังนั้นจะนำนโยบายของกระทรวง อว.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ไปสนับสนุนการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมผ่านกลยุทธ์หลัก 4 ด้าน ได้แก่
1.การพัฒนากำลังคนทักษะสูง เพื่อเป็นฐานรากของอุตสาหกรรม Soft Power โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ “1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย” ซึ่งมุ่งสร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนเพื่อให้รสชาติอาหารไทยมีมาตรฐานเดียวกันและเข้าถึงได้ทั่วโลก อีกโครงการคือ “Thai Youth Street Art” ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สร้างผลงานศิลปะบนกำแพงเมืองถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนสู่สากลและสร้างศิลปินรุ่นใหม่
2. สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง กระทรวง อว.มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 11 อุตสาหกรรม Soft Power กว่า 12,000 เรื่อง ดังนั้น จะมีการนำเอางานวิจัย Soft Power ที่สำคัญมาแปลงเป็นนโยบาย
3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะ Soft Power โดยจัดให้มีสตูดิโอผลิตสื่อดิจิทัล ห้องทดลองแฟชั่น หัตถกรรม ห้องปฏิบัติการด้าน VR/ AR/ AI รวมถึง Co-working Space สำหรับนักศึกษาหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานและคอนเทนต์ใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ
4.การเปิดพื้นที่แสดงออกและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เช่น โครงการ “H.M. Song ดนตรีในสวน อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” ที่นำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบดนตรีร่วมสมัยหรือโครงการประกวดดนตรี “MHESI Music Variety Awards”
“ดิฉันพร้อมจะนำสรรพกำลังทั้งหมดร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ Soft Power ไทย “จับต้องได้จริง” และส่งผลให้เกิด “งานสร้างรายได้ และสร้างอนาคต” ให้กับประชาชนไทยอย่างยั่งยืน” น.ส.สุดาวรรณ กล่าว