ข้าราชการบำนาญเมืองน้ำดำชี้ปัญหาสงฆ์เสื่อมเพราะความใกล้ชิดเกินควรเสนอรัฐส่งเจ้าหน้าที่สำนักพุทธประจำทุกวัด
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่วัดประชานิยม (ธ) พระอารามหลวง จังหวัดกาฬสินธุ์ พุทธศาสนิกชนจำนวนมากร่วมประกอบพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา (นิกายเถรวาท) และเป็นวันหยุดราชการ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสงบและอิ่มเอิบทางจิตใจ โดยมีพระธรรมวชิรนิวิฐ (บัวศรี ชุตินฺธโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดประชานิยม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
ภายหลังพิธี นายกวีวัฒน์ อันไกรฤทธิ์ อายุ 86 ปี ข้าราชการบำนาญ ชาวเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองต่อปัญหาความเสื่อมในหมู่สงฆ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง โดยระบุว่า ส่วนหนึ่งเกิดจาก “ความใกล้ชิดจนเกินควร” ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งแม้ในพระวินัยจะไม่ห้ามการอุปถัมภ์ แต่ควรเป็นไปด้วยความเหมาะสมและมีระยะห่างที่เหมาะสมเพื่อคงไว้ซึ่งพรหมจรรย์และความศักดิ์สิทธิ์ของสมณเพศ
“ถึงแม้พระท่านจะไม่มีความใคร่หรือความกำหนัด แต่ฆราวาส โดยเฉพาะผู้หญิง ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดจนเกินไป เพราะไม่รู้ว่าคนภายนอกจะมองหรือเข้าใจอย่างไร ซึ่งพระที่เคร่งครัดมักจะมีสามเณรหรือพระลูกวัดอยู่ร่วมตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัยและเหมาะสมในการปฏิบัติศาสนกิจ” นายกวีวัฒน์กล่าว
ทั้งยังแสดงความเห็นว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างควรเริ่มจากการมี เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักพุทธฯ) ประจำอยู่ในวัดทุกแห่ง โดยไม่ควรปล่อยให้ทำงานอยู่แต่ในสำนักงานส่วนกลาง แล้วมาปรากฏตัวเฉพาะเวลาที่มีงานสำคัญเท่านั้น
“วัดควรเป็นสถานที่ราชการด้านศาสนาอย่างแท้จริง เมื่อมีตำแหน่งเจ้าอาวาส มีงบประมาณนิตยภัตแล้ว ก็ควรมีเจ้าหน้าที่รัฐมาคอยดูแลกำกับใกล้ชิดตลอด ไม่ใช่ปล่อยให้วัดอยู่กันตามลำพัง พระก็เลือกคนใกล้ชิดมาอยู่ด้วย บางครั้งก็เป็นผู้หญิง ทำให้เกิดปัญหาตามมา” เขากล่าว
นายกวีวัฒน์ยังชี้ว่า ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับแนวโน้มของพระพุทธศาสนาในยุคหลัง ซึ่งเริ่มเบี่ยงเบนไปสู่ “พุทธพาณิชย์” ทำให้พระภิกษุจำนวนหนึ่งอ่อนแอทางพระธรรมวินัย และอาจนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในระยะยาว
“ตำราท่านว่าไว้ว่า เมื่อศาสนาเดินทางมาใกล้ยุคปลาย จะเหลือเพียงผ้าเหลือง แต่ไม่มีเนื้อธรรมเหลืออยู่ ถึงยุค 5,000 ปี ศาสนาอาจถึงคราวสิ้นสุด พระจะไม่มีวินัย อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ ทำมาหากินเอง ห่มจีวรแต่ไม่มีเนื้อหาของความเป็นพระเหลืออยู่เลย” นายกวีวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากอดีตข้าราชการอาวุโสรายนี้ อาจสะท้อนถึงความห่วงใยในสถาบันสงฆ์และเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่รัฐควรรับฟัง เพื่อรักษาไว้ซึ่งศรัทธาและความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย.