ภาษีทรัมป์ “ทีดีอาร์ไอ” ชี้อย่าหวังการค้า วิน-วิน ยิ่งช้า ยิ่งเสียเปรียบ
นับถอยหลัง เหลืออีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดวันที่ 1 สิงหาคม 2568 ประเทศไทยต้องเผชิญ ว่าในที่สุดแล้ว อัตรากำแพงภาษีตอบโต้จากจากสหรัฐอเมริกา จะอยู่ที่ตัวเลขใด หากมากกว่าคู่แข่ง บริษัทที่ใช้ฐานการผลิตในไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และล่าสุดฟิลิปปินส์ 19% สถานการณ์ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ปัจจุบันสถานะภาษียังคงที่อยู่ 36%
รศ.ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ยังคงการประกาศเรื่องภาษีนำเข้าล่าสุดนี้ ทำให้ประเทศไทยมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในคราวเดียวกน สำหรับในด้านบวก หากเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยไม่เสียภาษีเลย จากปัจจุบันภาษีค่อนข้างแพงมาก แต่ภาษีต่ำ ก็อิงโควต้านำเข้าปริมาณต่ำมาก แต่พอจะนำเข้านอกโควตาภาษีสูงมาก
ส่วนนำเข้าจากเพื่อนบ้านใช้อาฟต้า ภาษีเป็นศูนย์อยู่แล้ว แต่ถ้าเรานำเข้าจากสหรัฐฯถูกกว่าข้อดีก็คือทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ไก่ โคเนื้อ ลดลง และหากนำผลิตภัณฑ์ไปขายยุโรปก็ไม่เจอปัญหาเพราะไม่ได้ใช้ข้าวโพดจากการเผา เพราะสหรัฐ ไม่ได้เผา เช่นเดียวกับถั่วเหลือง ก็มีภาษีต่ำ แต่ถ้าเป็นกากถั่วเหลืองภาษีจะสูงมากแล้วการจัดสรรจำกัดราย และไม่ได้นำเข้าเสรี มีการจัดสรร แล้วถ้าลดภาษีเป็นศูนย์ถั่วเหลืองจะได้ประโยชน์และไม่เป็นทางลบเลย เพราะประเทศไทยไม่ได้ผลิต
ส่วนทางลบ สำหรับกรณีข้าวโพด เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าสหรัฐ เกษตรกรไทยจะขายได้ราคาต่ำลงกว่าราคาปัจจุบัน ดังนั้นต้องเยียวยาเกษตรกรที่ดีที่สุด ก็คือ ประกันราคา โดยเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกบนเขาจะลำบากเพราะว่าบนเขาจะปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรปลูกพืชทดแทน ปัจจุบันยังหาปรับเปลี่ยนไม่ได้ ลำบาก ดังนั้นในเรื่องนี้จะต้องหาแนวทางปรับเปลี่ยนแบบเกษตรใหม่หมด ซึ่งอยู่แถวภาคเหนือเป็นเรื่องใหญ่มาก อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ และน่าน เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีมาตรการจริงจังให้ไปทำแบบอื่น
สำหรับประเด็นที่หนักที่สุดก็คือ "หมู" เพราะสหรัฐฯ เรียกร้องมานานแล้ว ที่จะให้นำเข้าหมู แต่เรากีดกันไม่ให้นำเข้า โดยอ้างสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งหากปล่อยให้นำเข้าได้ ราคาถูกมาก เพราะมีส่วนที่ชาวสหรัฐไม่รับประทาน เพราะฉะนั้นหากนำเข้ามาผู้ประกอบการรายกลาง เล็ก เจ๊งระเนระนาดเลย นี่ลำบากไม่รู้ว่าจะให้ปรับตัวอย่างไร แต่อย่างไรก็ต้องปรับตัว แล้วไม่แน่ใจว่าทางทีมไทยแลนด์ไปเจรจาปรับลดตรงนี้หรือไม่ แล้วการที่ไปอ้างเรื่องสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเราอ้างผิดกฎเกินความจริงก็คือ มาตรฐานสารเร่งเนื้อแดง สูงกว่าค่าโคเด็กซ์ที่ใช้ทั่วโลก แล้วไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน ลักษณะเลยออกมาเหมือนกีดกัน แล้วเกษตรกรและพ่อค้าอเมริกัน เรียกร้องมานานแล้ว
“เวลาไปงานเลี้ยงที่สถานทูตสหรัฐฯ จะบ่นเรื่องนี้ทุกครั้ง เช่นเดียวกับโคเนื้อ ไทยเองก็มีกฎระเบียบน้ำเข้าเยอะมาก ขณะที่มีเอฟทีเอ ไทยออสเตรียและนิวซีแลนด์ อยู่แล้วและเป็นศูนย์ด้วย เพราะฉะนั้นทางทีมสหรัฐก็รู้ และที่สำคัญทางทีมคณะเจรจาไทย อ่านรายงานของกระทรวงสหรัฐ (USDR) หรือไม่ เพราะในนั้นบอกละเอียดมากว่าไทยกีดกันอะไรบ้าง เช่น ประเทศไทยห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นบนทางด่วน เพราะมีรถจักรยานยนต์ของสหรัฐ ยี่ห้อ Harley-Davidson (ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน) ซึ่งเป็นรถสัญชาติอเมริกัน ที่คนไทยเรียกฮาเลย์ ที่มาผลิตเมืองไทยก็ได้รับการร้องเรียนมานานว่าทำไมห้ามขึ้นบนทางด่วน แล้วกระทรวงคมนาคมก็ได้ทำความเข้าใจกับทางสหรัฐฯว่าห้ามเพราะเหตุผลอะไรบ้าง ซึ่งอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน”
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ฝ่ายราชการไทยอ่อนแอมาก ได้อ่านรายงานที่ส่งมาให้ไหม เนื้อหาเป็นปึกเลยละเอียดยิบเลย ซึ่งผลการเจรจาในครั้งนี้เราทำการบ้านไม่พอ ส่วนที่บอกว่าช้าๆ ได้พล่าเล่มงาม ใช้ไม่ได้ แล้วทำไมบางประเทศรีบโดดเจรจาก่อน มีแต่ประเทศไทยแจ้งว่าวิน วิน ทรัมป์ไม่ยอมเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาก็แจ้งมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าประเทศคุณเอาเปรียบ เพราะฉะนั้นต้องลดภาษีให้ ไม่มีวินเด็ดขาด
"รัฐบาลตั้งโจทย์การเจรจาผิดตั้งแต่แรก ล่าสุดฟิลิปปินส์ สหรัฐก็ลดภาษีนำเข้า 19% แล้วถ้าไทยฝืนต่อไป ภาษียังคงสูงกว่าประเทศคู่แข่งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในเมืองไทยเจ๊งหมด ไม่ว่าจะแข่งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซียไม่ได้เลย บีบให้ผู้ประกอบการต้องย้ายการผลิต ดังนั้นต้องมองในระยะยาวแล้วมองว่าผลประโยชน์ทั้งหมดว่าได้อะไรเสียอะไรจะแก้ปัญหากันอย่างไร คิดแต่จะปกป้องอย่างเดียว ไปไม่รอด"