ศาลสั่งยึดเงินคืนโบรกฯ 4,500 ล้าน-ยึดหุ้น MORE เป็นของแผ่นดิน
คดีประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย "มอร์ รีเทิร์น" (MORE) ขบวนการปล้นเงินโบรกเกอร์กว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 นั้น
ล่าสุดศาลแพ่งถนนรัชดาภิเษก พิพากษาให้นำเงินที่อายัดไว้คืนกลับโบรกเกอร์ 11 รายที่จ่ายเงินค่าขายให้กับลูกค้าวอลุ่มปริศนา 1,500 ล้านหุ้น ในช่วงเปิดตลาดที่ราคา 2.90 บาท เป็นเงิน 4,300 ล้านบาท และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยังตรวจพบรายการที่น่าสงสัยเพิ่มเติมอีก 200 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาทและสั่งยึดหุ้น MORE จำนวน 1,500 ล้านหุ้น ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ทั้งนี้ผู้พิพากษาได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาครั้งนี้นานกว่า 4ชั่วโมงครึ่ง ผลการตัดสินครั้งนี้ ทางผู้ต้องสงสัยยังมีสิทธิอุทธรณ์ได้
การยึดหุ้น MORE จำนวน 1,500 ล้านหุ้นหุ้นนั้น จากการสืบสวนพบว่าไม่สามารถแสดงว่าได้หุ้นมาโดยสุจริต และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดจำนวน 32 รายร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น MORE ในช่วงระหว่างวันที่ 18 ก.ค.-10 พ.ย. 65
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์สินไว้ทั้งหมดรวม 34 รายการ มูลค่าราว 5,376 ล้านบาท เหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างไรก็ตามอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา 9 ผู้ต้องหาหุ้น MORE
สำหรับ 11 โบรกเกอร์ที่จะได้เงินคืนคดี MORE เช่น บล.กรุงศรีอยุธยา ประมาณ 900 ล้านบาท บล.เกียรตินาคินภัทร 700 ล้านบาท บล.เอสซีบี เอ็กซ์ 400 ล้านบาท บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เกือบ 400 ล้านบาทและบล.คิงส์ฟอร์ด เกือบ 400 ล้านบาท โดยบล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) หรือ Z.com (แซด คอม) ได้รับความเสียหายมาก และเจอฟอร์ซเซลหุ้นอีกหลายตัว ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จนต้องยุติการให้บริการโบรกเกอร์ในประเทศไทย
คดีปั่นหุ้น MORE สร้างความปั่นป่วนในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ และทำให้ตลาดทุนไทยขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้น หลังจากก๊วนนี้ได้วางแผนให้นายอภิมุข บำรุงวงศ์ (ปิงปอง) ใช้หุ้น MORE ในมือไปเวียนเทียนขอเปิดวงเงินสินเชื่อซื้อหุ้น (มาร์จิ้น) กับโบรกเกอร์หลายแห่ง ในวันที่เผด็จศึก 10 พ.ย.2565 นายอภิมุขเพียงคนเดียว ส่งค่าสั่งซื้อหุ้น MORE และ MORE-R ในช่วงเปิดตลาด (ATO) ในราคาหุ้น ละ 2.90 บาท ผ่านโบรถเกอร์ 11 แห่งที่ไปขอใช้มาร์จิ้น โดยนายอภิมุขตั้งใจไม่จ่ายค่าซื้อหุ้นแต่แรกแล้ว สร้างภาระทั้งหมดตกอยู่กับโบรกเกอร์จ่ายเงินให้กับผู้ร่วมกระบวนการเทกระจาดขายหุ้น
โบรกเกอร์ที่ได้รับความเสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับ นายอภิมุช และบุคคลที่เกี่ยวข้องกรณีถูกนายอภิมุข หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง หลอกลวงให้หลงเชื่อว่า นายอภิมุขจะชำระค่าซื้อหุ้น MORE และ MORE-R
ส่วนผู้ที่ถูกก.ล.ต.กล่าวโทษคดีปั้นหุ้น MORE อาทิ นายอภิมุข ,นายเอกภัทร พรประภา,นายอธิภัทร พรประภา,นางอรพินธุ์ พรประภา ,นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล, บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล,บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ ,นายสมนึก กยาวัฒนกิจ ,นายวสันต์ จาวลา
ขณะที่ ปปง.อายัดทรัพย์สินมูลค่าราว 5,376 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อต่อเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายหัน MORE หรือ MORE -R ในวันที่ 10 พ.ย.2565 ในบัญชีใดๆ เช่น นายอภิมุข ภายใต้การดูแลของบล.ไอร่า จำนวน 405,644,346 บาท ณ วันที่ 20 พ.ย.65 นายเอกภัทร พรประภา ภายได้การดูแลของบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มูลค่า 1,808,720,107 บาท นายอธิภัทร พรประภา ภายใต้การดูแลของบล.บัวหลวง มูลค่า 676,760,540 บาท นางอรพินธุ์ พรประภา ภายไต้การดูแลของบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มูลค่า 122,939,700 บาท นายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา ภายใต้การดูแลของบล. เอเอสแอล มูลค่า 195 ล้านบาท นายวสันต์ จาวลา ภายใต้การดูแลของบล. เอเชีย เวลท์ 55 ล้านบาท