‘อรรถกร’ เดินหน้า!! โครงการสวนยางอารยเกษตร ส่งเสริมใช้ แก๊สเอทธิลีน ตั้งเป้าหมาย!! ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้ชาวสวน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
(20 ก.ค. 68) อรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน้าใหม่ เดินทางไปพัทลุงเป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการใช้แก๊สเอทธิลีนร่วมกับการติดตั้งระบบน้ำในสวนยางพารา ตามโครงการ ‘สวนยางอารยเกษตร’ ภายใต้แผนงาน ‘พัทลุงโมเดล’
โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมชลประทาน
อรรถกร กล่าวว่าแนวทางการทำสวนยางแบบ “อารยเกษตร” นั้นเป็นรูปแบบการจัดการสวนยางแนวใหม่ ที่ผสานองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่สวนยางอย่างยั่งยืน โครงการฯ นี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการระหว่าง กยท. และกรมชลประทาน สะท้อนถึงเป้าหมายในการมุ่งมั่นยกระดับการทำเกษตรกรรมโดยปรับใช้แนวคิดการจัดการสวนยางที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรชาวสวนยางใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างความมั่นคงในครัวเรือน โดยผสานองค์ความรู้ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อให้สวนยางกลายเป็นแหล่งผลิตที่ให้ทั้งรายได้ อาหาร และความยั่งยืนในระยะยาว
“เป้าหมายหลักของโครงการฯ คือต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และให้ชาวสวนยางมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ “สวนยางอารยเกษตร” จึงไม่ใช่แค่แนวทางในการผลิตยาง แต่คือแนวคิดเชิงระบบที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทําสวนยางในประเทศไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต” รมว.อรรถกร กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ โครงการนี้จะมีการส่งเสริมการใช้แก๊สเอทิลีนร่วมกับการติดตั้งระบบน้ำในสวนยางพารา “สวนยางอารยเกษตร” พัทลุงโมเดล กยท. ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมชลประทาน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังบน ในการวางระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยใส เข้าสู่พื้นที่สวนยางอารยเกษตรของเกษตรกร (ในระยะแรก) จำนวน 13 ราย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 80.80 ไร่ โดยระบบน้ำดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในหลากหลายกิจกรรม ทั้งการให้น้ำแก่ต้นยางโดยตรง การให้น้ำแก่พืชแซมยาง และการทำประมงในสวนยาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสวนอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ กยท. ยังสนับสนุนการนำนวัตกรรมแก๊สเอทิลีน มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตยางพารา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้น้ำยางไหลได้นานขึ้น และส่งผลให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้เพิ่มขึ้นด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการพัฒนาอาชีพสวนยางอย่าง ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มาเลเซียใช้มาระยะหนึ่งแล้ว
กล่าวสำหรับ ‘พัทลุงโมเดล’ เป็นแนวคิดหรือโครงการต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยเน้นการยกระดับเกษตรกรชาวสวนยางแบบครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มใช้ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของการปลูกยางในภาคใต้
แนวคิดหลักของ ‘พัทลุงโมเดล’ โดย กยท.
1. รวมกลุ่มเกษตรกร
ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางรวมกลุ่มกันเป็น สถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ชาวสวนยาง เพื่อให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาและการสนับสนุนจากรัฐได้ง่ายขึ้น
2. แปรรูปยางในพื้นที่
สนับสนุนให้มี โรงงานแปรรูปยางระดับชุมชน หรือ โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง เพื่อไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง โดย กยท.ช่วยเรื่องเทคโนโลยีและการจัดการ
3. สร้างมูลค่าเพิ่ม
ส่งเสริมการ นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ยาง เช่น การผลิตหมอนยาง, ที่นอนยางพารา, ยางกันกระแทก ฯลฯ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูง
4. ตลาดนำการผลิต
ใช้แนวทาง ‘ตลาดนำการผลิต’ โดยหาความต้องการของตลาดก่อน แล้วส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตตาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาล้นตลาด
5. เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสาน
แทรกแนวคิดเกษตรยั่งยืน เช่น ปลูกพืชแซมในสวนยาง หรือทำปศุสัตว์ร่วมกับสวนยาง เพื่อเพิ่มรายได้หลายทาง
ผลที่คาดหวังจากพัทลุงโมเดล
•เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงจากการทำสวนยาง
•ลดการพึ่งพาตลาดยางดิบเพียงอย่างเดียว
•สร้างงานในท้องถิ่นจากกิจการแปรรูปยาง
•เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัด
ความสำคัญ
‘พัทลุงโมเดล’ ถือเป็นต้นแบบที่ กยท. ตั้งใจจะ ขยายผลไปยังจังหวัดอื่น โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่มีพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง และสุราษฎร์ธานี