ญี่ปุ่นนำดินจากฟุกุชิมะมายังสำนักนายกรัฐมนตรี ปลูกโชว์แสดงความปลอดภัย
ดินปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำหลายสิบถุง ซึ่งเก็บมาจากพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ประสบภัยพิบัติเมื่อปี 2011 ได้ถูกส่งถึงสำนักนายกรัฐมนตรีของชิเงรุ อิชิบะ เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) เพื่อแสดงให้เห็นว่าดินดังกล่าวสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งนำไปสู่เหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ หน่วยงานภาครัฐได้เร่งขูดหน้าดินปนเปื้อนออกจากพื้นที่กว้างใหญ่ของจังหวัดฟุกุชิมะ เพื่อบรรเทาระดับรังสีที่ตกค้าง
จนถึงปัจจุบัน มีดินปนเปื้อนประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ถูกจัดเก็บไว้ในศูนย์เก็บรักษาใกล้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ โดยรัฐบาลตั้งเป้าย้ายดินทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายในปี 2045
กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นระบุว่า ดินส่วนใหญ่มีระดับกัมมันตภาพรังสีต่ำมากเทียบเท่าหรือไม่เกินรังสีจากการเอ็กซเรย์หนึ่งครั้งต่อปี สำหรับผู้ที่ยืนอยู่หรือทำงานกับดินโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีจำนวนน้อยมากของท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่ยินดีรับดินปนเปื้อนเหล่านี้ไปจัดการ รัฐบาลกลางจึงตัดสินใจนำดินบางส่วนมาใช้ใหม่ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าไม่มีอันตราย
เจ้าหน้าที่ขนถุงดินลงจากรถบรรทุกและนำไปวางในสวนหน้าสำนักงานนายกรัฐมนตรีใจกลางกรุงโตเกียว โดยมีรายงานก่อนหน้านี้ว่าดินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในแปลงปลูกไม้ดอก ภายในพื้นที่ของสำนักงาน
ตามแผนงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อม จะมีการกลบดินจากฟุกุชิมะด้วยดินธรรมดาอีกชั้นหนึ่ง หนาประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อความปลอดภัยและความสวยงาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "แคนาดา" ถอนเสนอซื้อ 7-11 ญี่ปุ่น เจรจาไม่คืบ
- ไม่เปิด"ตลาดรถญี่ปุ่น"เตรียมโดนภาษีนำเข้าร้อยละ 25
- ญี่ปุ่นสร้างถ้ำลึก 94 เมตร หวังศึกษา “ต้นกำเนิดของสสาร”
- ฝึกงานญี่ปุ่น! เปิดรับ "สาวไทย" เงินเดือนดี สมัครออนไลน์ ฟรี 21-27 ก.ค. นี้
- บริษัท"รถยนต์ญี่ปุ่น" ยอมหั่นราคายนต์ส่งออกไปสหรัฐฯ หวังลดผลกระทบ"ภาษีทรัมป์"