เงินบาทกลับมาอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า 5 ปัจจัยสำคัญ-ราคาทองคำตลาดโลก
เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง หลังทำสถิติแข็งค่าสุดรอบ 3 ปี 5 เดือน คาดสัปดาหืหน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ กสิกรไทยแนะจับตา 5 ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้า ทั้งผลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับไทย ผลการประชุม FOMC (29-30 ก.ค.) และ BOJ (30-31 ก.ค.) รวมถึงฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิ.ย. ของไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน แต่กลับมาอ่อนค่าเล็กน้อยช่วงท้ายสัปดาห์
เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวกลับขึ้นไปยืนเหนือแนว 3,400 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์อีกครั้งในระหว่างสัปดาห์ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ขยับแข็งค่าขึ้น สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ขาดปัจจัยใหม่ ๆ มาหนุน เนื่องจากตลาดกลับมารอติดตามสถานการณ์การเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าก่อนเส้นตาย 1 ส.ค. นี้
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ น่าจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของเฟด หลังจากที่ยังคงมีคำกล่าววิจารณ์การทำงานของประธานเฟดอย่างต่อเนื่อง
เงินบาทกลับมาก่อนค่า
ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือนที่ 32.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงช่วงท้ายสัปดาห์ ตามทิศทางราคาทองคำตลาดโลกที่ปรับตัวลง (ท่ามกลางความหวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับหลาย ๆ คู่ค้ามีแนวโน้มจะได้ข้อสรุป) ประกอบกับตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกเข้ามาเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ค.) ที่ออกมาดีกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 25 ก.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ก.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 ก.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 8,802 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,046 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 3,051 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)
คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า
สำหรับสัปดาห์หน้า หรือระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-1 ส.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.00-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับไทย ผลการประชุม FOMC (29-30 ก.ค.) และ BOJ (30-31 ก.ค.) รวมถึงฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิ.ย. ของไทย
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนมิ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.ค. จีดีพีไตรมาส 2/2568 (Advance Estimate) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2568 ของยูโรโซนและดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ค. ของจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ แต่ยังคงปิดเหนือ 1,200 จุดได้เป็นสัปดาห์ที่สอง
ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะร่วงลงแรงในเวลาต่อมาตามแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเฉพาะในหุ้นบิ๊กแคปรายตัว อาทิ หุ้นบริษัทพลังงาน ค้าปลีก เทคโนโลยี รวมถึงแบงก์ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประกาศงบไตรมาส 2/2568
อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นและกลับมายืนเหนือ 1,200 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ จากความคาดหวังเกี่ยวกับผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลังมีรายงานข่าวว่าญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แล้วและอัตราภาษีนำเข้าจะถูกปรับลงเหลือ 15% และ 19% ตามลำดับ
ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งในเวลาต่อมา หลังสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชามีความตึงเครียดและยกระดับความรุนแรงขึ้น แต่กรอบการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีการประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แม้จะยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ตลาดยังกลับมารอติดตามประเด็นการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากใกล้เส้นตายวันที่ 1 ส.ค. 2568
ในวันศุกร์ที่ 25 ก.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,217.15 จุด เพิ่มขึ้น 0.88% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,247.05 ล้านบาท ลดลง 8.50% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.96% มาปิดที่ระดับ 248.24 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.ค.-1 ส.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,205 และ 1,175 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,230 และ 1,255 จุด ตามลำดับ
จับตาประชุมเฟด (29-30 ก.ค.)
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (29-30 ก.ค. 68) ผลประกอบการไตรมาส 2/2568 ของบจ.ไทย ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนก.ค. รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2568 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2568 ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เงินบาทกลับมาอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า 5 ปัจจัยสำคัญ-ราคาทองคำตลาดโลก
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net