7 สิ่งที่ “ขโมยไฟ” ดูดเงินมากกว่าแอร์ แต่หลายบ้านไม่เคยปิด อย่าแปลกใจถ้าค่าไฟพุ่ง!
7 อุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าเกินคาด แอบ “ดูดไฟ” มากกว่าการเปิดแอร์เสียอีก ต้นเหตุบิลค่าไฟพุ่งไม่หยุด!
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเครื่องปรับอากาศคือ “ตัวการหลัก” ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงลิ่วทุกเดือน แต่ความจริงแล้ว ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอีกหลายชนิดที่ใช้พลังงานอย่างเงียบ ๆ แต่สิ้นเปลืองไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เปิดใช้งานตลอดทั้งปี ซึ่งมักถูกมองข้ามไป
ตามรายงานจากเว็บไซต์ข่าว SOHA อ้างอิงข้อมูลของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) พบว่า อุปกรณ์ 7 ประเภทนี้คือ“มือดีแอบขโมยไฟ” ตัวจริงที่หลายครัวเรือนใช้งานประจำโดยไม่รู้ตัว
1. เตาไฟฟ้า – ตัวดูดไฟอันดับหนึ่ง
เตาไฟฟ้า โดยเฉพาะเตาอินฟราเรดและเตาแม่เหล็กไฟฟ้า (Induction) ใช้พลังงานสูงอย่างมาก โดยเตาเดี่ยวที่ใช้งานวันละ 3 ชั่วโมง จะกินไฟเฉลี่ย 85–95 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน ขณะที่เตาคู่กินไฟสูงถึง 170–190 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน แม้ใช้งานสั้นๆ แต่ด้วยความถี่และกำลังไฟสูง ทำให้เตาไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สิ้นเปลืองไฟเกินคาด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแอร์ที่ใช้เฉพาะฤดูร้อน ในขณะที่เตาไฟฟ้าทำงานตลอดทั้งปี
2. เครื่องทำน้ำอุ่น – เปิดทั้งวัน เสี่ยงเปลืองไฟ 4 เท่า
เครื่องทำน้ำอุ่นขนาด 20 ลิตร หากเปิดวันละ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟประมาณ 70–80 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน แต่หากเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จะพุ่งขึ้นถึง 320–340 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน เลยทีเดียว พฤติกรรม “เปิดทิ้งไว้ให้พร้อมใช้เสมอ” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟพุ่ง โดยยังลดอายุการใช้งานของเครื่องอีกด้วย
3. ตู้เย็น – ใช้งานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง
ตู้เย็นถือเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน โดยตู้เย็นขนาดกลางจะใช้ไฟประมาณ 30–45 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน ขนาดใหญ่ใช้ไฟ 50–65 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน ส่วนตู้เย็นขนาดเล็กหรือมินิบาร์จะกินไฟ 10–15 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน อย่างไรก็ตาม ยังพบด้วยว่าตู้เย็นรุ่นเก่า หรือไม่มีฉลากประหยัดพลังงาน จะใช้ไฟมากกว่ารุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ
4. คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ – ทำงานที่บ้าน ค่าไฟเพิ่มไม่รู้ตัว
หากใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะวันละ 12 ชั่วโมง อาจใช้ไฟถึง 72–75 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน และหากมีการ์ดจอแยกหรือจอภาพขนาดใหญ่ก็จะกินไฟเพิ่มขึ้นอีก สำหรับผู้ที่ทำงานจากที่บ้าน หรือใช้งานหนัก เช่น ตัดต่อวิดีโอ เล่นเกม ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นจากคอมพิวเตอร์อาจเกินกว่าที่คาดคิด
5. โทรทัศน์ – ปิดไม่สนิท ก็กินไฟอยู่ดี
ทีวี LCD ขนาดทั่วไปที่ใช้งานวันละ 5 ชั่วโมง ใช้ไฟราว 20–25 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน ส่วนทีวีรุ่นใหม่อย่าง OLED หรือ QLED ใช้ไฟมากขึ้นไปอีก หลายครอบครัวมักปล่อยให้ทีวีอยู่ในโหมดสแตนด์บาย (Standby) โดยไม่ปิดเครื่อง ทำให้ยังคงใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น
6. หม้อหุงข้าว – ตัวเล็ก พลังสูง
แม้จะดูเหมือนใช้แค่วันละ 2 ชั่วโมง แต่หม้อหุงข้าวขนาด 500 วัตต์ ก็ใช้ไฟประมาณ 20–25 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน และหากมีการกดอุ่นหลายรอบหรือเปิดโหมดอุ่นค้างไว้ตลอด ยิ่งทำให้กินไฟมากขึ้น
7. เตารีดไฟฟ้า – ใช้ไม่บ่อย แต่กินไฟเกินคาด
เตารีดที่มีกำลังไฟเฉลี่ย 1,100 วัตต์ หากใช้งานเพียงวันละ 30 นาที ก็ใช้ไฟราว 14–24 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน การรวมเสื้อผ้าไว้รีดครั้งเดียวต่อสัปดาห์ แทนการรีดทุกวัน ช่วยประหยัดพลังงานได้ชัดเจน
ทั้งนี้ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ควรระวังคือ ไมโครเวฟ กำลังไฟ 1,000 วัตต์ หากใช้งาน 30 นาที/วัน ใช้ไฟ 10–20 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน รวมทั้งเราท์เตอร์ อินเทอร์เน็ต กล้องวงจรปิด ที่แม้ใช้ไฟน้อย (8–12 กิโลวัตต์ชั่วโมง/เดือน/เครื่อง) แต่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะบ้านที่มีหลายอุปกรณ์ เช่น ตัวขยายสัญญาณ Wi-Fi หรืออุปกรณ์สมาร์ทโฮม ยิ่งเพิ่มค่าไฟ
เคล็ดลับลดค่าไฟในบ้านแบบเห็นผล
เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีฉลากเบอร์ 5 หรือเครื่องหมาย Energy Star
ปิดเครื่องใช้งานให้สนิท ไม่ปล่อยไว้ที่โหมดพร้อมใช้เงาน
หลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็น
บำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นประจำ เพื่อรักษาประสิทธิภาพ
การรู้ว่าทุกเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านใช้พลังงานมากน้อยแค่ไหน ช่วยให้เราวางแผนและควบคุมค่าไฟรายเดือนได้อย่างชาญฉลาด ไม่ต้องตกใจเมื่อเห็นบิลปลายเดือนอีกต่อไป
- ต่างชาติแชร์เคล็ดลับ "ใส่เกลือในตู้เย็น" ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องกลิ่น แต่มีประโยชน์มากกว่านั้น!
- ประตูห้องน้ำ ควรปิดหรือเปิดเมื่อไม่ใช้งาน ชีวิตประจำวันที่หลายคนยังสับสน