เกาะประเด็นการเมืองวันนี้ จับตา สัญญาณเตือน ‘รัฐบาล’ ไปไม่รอด
เรียกว่าอยู่ในสภาพเป็ดง่อยมากเข้าไปทุกที สำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของ "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" นอกจากหัวหน้ารัฐบาลจะถูกศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากคลิปเสียง "นายกฯ อิ๊งค์" กับ "สมเด็จฮุน เซน" ประธานวุฒิสภากัมพูชารูปร่างหน้าตาของคณะรัฐมนตรี (1/2) ก็ไม่ทำให้สังคมมีความหวังได้ เพราะพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นำเก้าอี้รัฐมนตรีในส่วนของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จำนวน 8 ที่นั่งที่ถอนตัวออกไป ไปแบ่งปันให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ หวังเพียงแค่คำนึงถึงความอยู่รอด หลายคนจึงผิดหวัง นอกจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียง 257 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมีเสียง 234 เสียง ก็กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจทำให้การขับเคลื่อนกฎหมายสำคัญในสภา ต้องเผชิญปัญหาและอุปสรรค ซึ่งเริ่มสะท้อนให้เหตุการณ์ล่มเมื่อวันที่ 3 ก.ค. แม้ทางรัฐบาลจะยืนยัน ประธานในที่ประชุมสั่งปิดการประชุมไปก่อนก็ตาม ทำให้พรรคฝ่ายค้านมองเห็นจุดอ่อนฝ่ายบริหาร ใช้วิธีเสนอนับองค์ประชุม จะเป็นวิธีการที่พรรคฝ่ายค้าน ใช้ตรวจสอบความเป็นเอกภาพของฝ่ายบริหาร อีกทั้งยังเริ่มเห็นร่องรอยความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ "นายชูศักดิ์ ศิริ" รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า ในการประชุมสภา วันที่ 3 ก.ค. สส. พรรค พท. เข้าประชุมเกือบ 90% ส่วนพรรคร่วมขาดประชุม
ทำให้เกิดปฏิกิริยาของพรรคร่วมรัฐบาลเช่น "รวมไทยสร้างสร้างชาติ (รทสช.)" ทำนองว่า ถูกโยนบาปให้รับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดย "นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์" สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรค รทสช. กล่าวถึงเหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า เนื่องจากช่วงบ่ายมีการประชุม ครม. นัดพิเศษ ซึ่งมี สส. ที่เป็นรัฐมนตรีเกือบ 20 คน ทั้งนี้ เสียงกึ่งหนึ่งในสภานี้คือ 248 เสียง และฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเกินจากกึ่งหนึ่ง น้อยกว่าคนที่ไปเป็นรัฐมนตรี เมื่อฝ่ายค้านรู้จึงเสนอนับองค์ประชุม ดังนั้น ในการประชุมสภาครั้งถัดไป สส. ที่เป็นรัฐมนตรีทุกคนต้องมาอยู่ที่สภา ไม่ใช่แค่วันพุธวันเดียว เพราะหลังจากนี้ฝ่ายค้านคงจะเช็กองค์ประชุมในลักษณะนี้อีก เพราะรู้ว่ารัฐบาลเสียงปริ่มนํ้า เพราะฉะนั้น สส. ที่เป็นรัฐมนตรีต้องมาอยู่สแตนด์บาย และนั่งทำงานที่สภาทุกวันพุธและพฤหัสบดี ไม่เช่นนั้นเสียงก็ไม่พอ
"ถ้ารัฐมนตรีอยากจะอยู่บริหารงานนานๆ ก็ต้องมาประชุมและทำงานที่สภา แต่ถ้าไม่อยู่ เช็กองค์ประชุมแล้วล่ม สภาและรัฐบาลก็เดินหน้าต่อไม่ได้" นายอัครเดช กล่าว
เมื่อถามว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ระบุว่าเหตุการณ์สภาล่ม สส.เพื่อไทย มาเกือบครบ แต่ สส. พรรคร่วมรัฐบาลหายไปเยอะ นายอัครเดช กล่าวว่า ไม่รู้หรอกว่า พรรคไหนมาเยอะหรือน้อย เพราะไม่มีการแสดงตน เนื่องจากนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรค พท. ในฐานะรองประธาน คนที่ 1 สั่งปิดการประชุมไปก่อน ดังนั้น จะบอกว่าพรรคร่วมฯ ขาดมากกว่าก็ไม่ได้ หากมีการแสดงตน ก็จะได้รู้ว่า สส. พรรคไหนขาดมากหรือน้อย แต่ในส่วนพรรค รทสช. ยืนยันว่า สส. เข้ากันเกือบครบ ขาดเพียงนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค รทสช. ที่กำลังรีบกลับมาประชุม
ด้าน "นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ" สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีการเปิดประชุมสภาวันแรก และฝ่ายค้านเสนอขอนับองค์ประชุมก่อนที่ประธานจะสั่งปิดการประชุม ว่า วันที่ 3 ก.ค. จะเป็นวันที่รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ หลังจากนั้นมีการประชุม ครม. นัดพิเศษ เพื่อแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย รักษาการนายกฯ ทุกคนก็ทราบ และได้บอกในพรรค พท. ว่า เขาต้องนับองค์ประชุม เพราะอย่างไรคนก็ไม่ครบ ซึ่งพรรคที่นับองค์ประชุมไม่ใช่พรรคประชาชน (ปชน.) เพราะเป็นพรรคที่มีหลักการพอสมควร ไม่ได้นับมั่วซั่ว
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า บอกมาตลอดว่า วันนี้เสียงปริ่มน้ำอย่างนี้ แม้แต่รัฐมนตรีสักคนหนึ่งก็ขาดไม่ได้ ถ้าอยากไปรอด และวิปรัฐบาลก็ได้เตือนแล้วว่า รัฐมนตรีที่เป็นผู้แทนราษฎร ต้องมาประชุมสภา วันพุธและวันพฤหัสบดี ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถ้ายังอยากเป็นรัฐมนตรี ต่อไปต้องมาประชุมสภา ให้เอางานมาสั่งการที่สภา ไม่อย่างนั้นสภาก็ล่ม ไปไม่รอด
"ต้องเตือนแรงๆ ไม่ใช่เตือนแค่ สส. ฝ่ายรัฐบาล แต่เตือนไปถึงรัฐมนตรีด้วย ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน วิปไม่สามารถไปลากใครมาประชุมได้หมด เพราะฉะนั้นคุณรู้หน้าที่ของตัวเองว่าเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ เตือนไปยังทุกคน ถ้ายังอยากให้รัฐบาลไปรอด เวลาอย่างนี้เสียงปริ่มน้ำ ไม่ใช่โยนมาให้วิปเพียงอย่างเดียว คุณต้องรับผิดชอบร่วมกับผม" นายวิสุทธิ์ กล่าว
การส่งสัญญาณไปยัง สส. พรรคร่วมรัฐบาล และบรรดารัฐมนตรี ต้องถือว่า ฝ่ายบริหารอยู่ในภาวะวิกฤติ ถ้าหากไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เข้าประชุมสภา การผลักดันกฎหมายก็ทำไม่ได้ อีกทั้งการเสนอนับองค์ประชุมก็ถือเป็นมาตรการตรวจสอบรัฐบาล ของพรรคฝ่ายค้าน เพราะองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และมีคำถามตามมา การได้ดูแลกระทรวงมหาดไทย แลกกับเสียงรัฐบาลที่หายไป 69 เสียง ถือคุ้มกันหรือไม่
ส่วนร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) ที่ถือเป็นความหวังของรัฐบาล กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คงไม่น่าไม่ได้ไปต่อ โดย "นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รมช.คลัง กล่าวในเวทีสัมมนา "เชื่อมั่นประเทศไทย : โจทย์ใหญ่รัฐบาล?" ที่จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ยอมรับว่า ขณะนี้รัฐบาล โดยวิปรัฐบาล และผู้แทน ครม. กำลังพิจารณาการเลื่อน หรือถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ ออกมาจากการพิจารณาในสภา ทั้งนี้ มีวาระการพิจารณาวันที่ 7 ก.ค. 2568 โดยคาดจะประชุมวิปรัฐบาล นำโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และสรุปผลได้ภายในวันที่ 7 ก.ค. นี้ ว่าจะเป็นมีมติถอน หรือเลื่อนออกไปอย่างไร สำหรับสาเหตุที่ต้องพิจารณาเลื่อน หรือ ถอน พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้มาจากว่าห่วงเรื่องเสียงสนับสนุนในสภาจะไม่พอ แต่มาจาก 2 เหตุผลหลัก คือ
1.ขณะนี้รัฐบาลเพิ่งมีการปรับ ครม. ใหม่ และมีรัฐมนตรีใหม่หลายคน 14-15 ตำแหน่ง ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ชุดเดิม ดังนั้น เมื่อมีการปรับรัฐมนตรีใหม่เข้ามา จึงควรให้สิทธิทุกท่านร่วมพิจารณา และตัดสินใจกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนให้ตกผลึกเสียก่อน 2.ขณะนี้เกิดปัญหาหลายมิติขึ้น ทั้งยาเสพติด ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ก็ยังเป็นปัญหาค้างคา รวมถึงเกิดการชุมนุมมีผู้คัดค้านบนท้องถนน จึงต้องลดโทนลงความขัดแย้งของบ้านเมือง จึงมีข้อเสนอให้เลื่อนการพิจารณา หรือถอนร่างกฎหมายกลับมาที่ ครม. ก่อน ถ้าเห็นว่า มีความเหมาะสมแล้วก็ค่อยเสนอให้สภาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนขั้นตอนการการถอน หรือเลื่อนร่างกฎหมายนั้น หากมีการเลื่อนวาระพิจารณา จะต้องให้มีการพิจารณา และโหวตกันในสภา เพื่อขอมติให้เลื่อนไปก่อน
“ยอมรับว่าหากเลื่อน ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายโอกาสของประเทศ เพราะจะขาดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยวของประเทศไป ส่วนปัญหาทางการเมือง ขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีอำนาจเต็ม ในการบริหารเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไปได้ โดยไม่ได้เดินมาถึงจุดเสี่ยงหรือทางตันอย่างที่เป็นกระแสข่าว”รมช.คลังกล่าว
ส่วน "นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" หัวหน้าพรรค ปชน. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แถลงผลการประชุมหัวหน้า 5 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่รัฐสภา เพื่อเตรียมความพร้อมการทำหน้าที่ในการประชุมสภา สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ว่า จะใช้สรรพกำลัง และเดินหน้าใช้กลไกสภา กดดันให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกจากวาระการประชุม และจะต้องให้คำมั่นว่าจะไม่เสนอกลับเข้าสู่สภาอีก
ดูจากเสียงสนับสนุนของรัฐบาลในสภา เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คงถูกดองในสภายาว จนไม่แน่จะได้รับการผลักดันในรัฐบาลนี้ ต้องถือเป็นผลพวงของการปรับ ครม. ทำให้การผลักดันนโยบายเรือธง ต้องสะดุดและไม่รู้จะมีอีกกี่เรื่องที่เป็นหมุดหมายสำคัญของฝ่ายบริหาร ที่ไปต่อไม่ได้ นั่นหมายความว่า ยิ่งเร่งผลักดันผลงาน แต่กลับมีอุปสรรคให้ไปไม่ถึง ทำคลอดไม่ได้ จะหาผลงานอะไรไปบอกกล่าวกับประชาชน
"ทีมข่าวการเมือง"