ราชกรุ๊ป จับมือ สหพัฒนา ศึกษาโมเดลลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ในนิคมอุตสาหกรรม
‘ราชกรุ๊ป-สหพัฒนา’ เร่งศึกษาความเป็นไปได้ ลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หวังดึงดูดนักลงทุน ด้านปลัดพลังงาน หนุนไฟฟ้าเชื้อเพลิงสะอาด
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าราชกรุ๊ปและบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา “Thailand's SMR Energy Forum-A Global Dialogue on SMR Deployment” เพื่อศึกษาความเป็นไปได้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล หรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR) ที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสะอาด และตอบสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ มองการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและอินโดนีเซีย โดยสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากอินโดนีเซียจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 19% ขณะที่สินค้าส่งออกของสหรัฐไปยังอินโดนีเซียจะไม่ถูกเก็บภาษี เป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนในอินโดนีเซีย โดยบริษัทประเมินแนวโน้มการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมวางแผนลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก
ปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย รวม 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,009.72 เมกะวัตต์ โดยยังคงมีอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายการลงทุน ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายวิชัย กุลสมภพ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI กล่าวว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยี SMR อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ในระดับโลกถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยคาดว่า SMR จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานสะอาดที่จะมาแทนที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศไทยในอนาคต
“แม้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาและวางแผน ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการในหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมาย การกำกับดูแล การคัดเลือกเทคโนโลยี การเลือกพื้นที่ติดตั้ง และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่ SPI ในฐานะภาคเอกชนที่มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นว่าอนาคตของพลังงานไม่ควรพึ่งพาแหล่งพลังงานรูปแบบเดิมเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป การหาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นความท้าทายระดับโลก และในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Carbon Neutrality”
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับล่าสุด ได้มีการบรรจุเทคโนโลยี SMR เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงานและช่วยไปสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก หลังจากมีการทำประชาพิจารณ์ พบว่าได้รับเสียงตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนเป็นอย่างดี ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่
ข้อดีของ SMR คือกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ ใช้ความร้อนจากปฏิกิริยาฟิชชันผลิตไฟฟ้าแทนการเผาไหม้เชื้อเพลิง มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตไฟฟ้า มีการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในถังปฏิกรณ์เดียว ปัจจุบันมีโรงฟ้านิวเคลียร์เดินเครื่อง 417 โรงใน 31 ประเทศ และมีการเพิ่มเป้าหมายจากพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็น 3 เท่า ภายในปี 2594
ปัจจุบันมองว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพมากที่สุด แต่หากราช กรุ๊ป หรือบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ที่เป็นบริษัทลูกของกฟผ. มีความพร้อม สามารถเดินตามแผนที่ทางภาครัฐวางไว้ได้
“กระทรวงพลังงาน ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ จัดทำกฎระเบียบเพิ่มเติม พิจารณาพื้นที่เหมาะสม เช่น หลายแห่งมีการติดตั้งกำลังการผลิตมากกว่า 300 เมกะวัตต์ เช่น นิคมอุตสาหกรรมคาดว่าจะต้องมีการใช้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับภาคประชาชน รวมถึงเตรียมความพร้อมบุคลากรด้วย การพิจารณาร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จึงได้บรรจุ SMR และไฮโดรเจนไว้ในแผน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นทางรอดให้กับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ราชกรุ๊ป จับมือ สหพัฒนา ศึกษาโมเดลลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ในนิคมอุตสาหกรรม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th