รถไฟฟ้า 20 ตลอดสาย เอื้อประโยชน์ BTS-BEM หากรัฐชดเชย 6 พันลบ. หนุนกำไร 10%
จากกรณี ครม.เห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ในราคาไม่เกิน "20 บาทตลอดสาย" โดยในช่วงเดือน ส.ค. 68 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" และจะเริ่มโครงการในวันที่ 1 ต.ค. 2025 ครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินในกรุงเทพฯและปริมณฑล (รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีแดง, และสายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์)
ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเชิงบวกต่อข่าวดังกล่าว เนื่องจากน่าจะส่งผลบวกต่อประมาณการกำไรและเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้น BEM และ BTS
ขณะที่ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองว่านโยบายเงินอุดหนุน 20 บาท จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง BEM และ BTS ในแง่ที่ว่าราคาค่าโดยสารที่ถูกลงจะกระตุ้นความต้องการใช้รถไฟฟ้า ปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้จะเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อ BEM และ BTS
แนะนำ ซื้อทั้ง BEM (ราคาเป้าหมาย 9.1 บาท) และ BTS (ราคาเป้าหมาย 6.49 บาท) อย่างไรก็ตาม ชอบ BTS มากกว่า BEM เนื่องจากได้รับประโยชน์จากนโยบายเงินอุดหนุนต่อกำไรมากกว่าและมูลค่าที่ถูกกว่า
อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ ที่กล่าวว่าโครงการ ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะได้รับเงินสนับสนุนจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล นายสุริยะระบุอย่างชัดเจนว่า เงินทุนที่จะอุดหนุนโครงการนี้จะมาจากเงินสะสมและกระแสเงินสดของ รฟม. โดยงบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนนี้จะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาทสาหรับระยะเวลา 2 ปี ซึ่งหมายถึง 8 พันล้านบาทต่อปี
จากการศึกษาของฝ่ายวิจัย พบว่ารัฐบาลฃ และ รฟม. จะใช้เงินเพียง 4 พันล้านบาทในการอุดหนุน BEM และ BTS ตามจำนวนผู้โดยสารปัจจุบัน นั่นแปลว่าการตั้งงบประมาณ 8 พันล้านบาท คือเป็นการตั้งเพื่อปริมาณผู้โดยสารสำหรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทุกสายภายใต้ BTS และ BEM ที่สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้โดยสารปัจจุบัน ทำให้ตีความว่ารัฐจะอุดหนุนปริมาณผู้โดยสารส่วนเพิ่มให้กับทางบริษัททั้งสองด้วย
BEM มีรายได้ประมาณ 4.4พันล้านบาทในปี 2567 จากสายสีน้ำเงิน ซึ่งอิงจากจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 443,000คนต่อวัน และราคาค่าโดยสารเฉลี่ย 27บาท/เที่ยว หากจำนวนผู้โดยสารยังคงที่ รัฐบาลจะอุดหนุน BEM ประมาณ 1.1พันล้านบาทสำหรับส่วนต่างระหว่าง 27บาทที่ BEM ได้รับจากเงินอุดหนุน 20บาท
สำหรับ BTS มีประมาณ 4 สายที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนนี้ ได้แก่ สายสีเขียวหลัก (ภายใต้ BTSGIF) สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีทอง BTSGIF มีรายได้ประมาณ 7 พันล้านบาทจากสายสีเขียวหลัก โดยอิงจากจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 583,000 คนต่อวัน และราคาค่าโดยสารเฉลี่ย 33 บาท/เที่ยว เงินอุดหนุนให้ BTSGIF จะอยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท ในขณะที่เงินอุดหนุนให้สายสีชมพูและสายสีเหลืองจะรวมกันอยู่ที่ 280 ล้านบาท ส่งผลให้เงินอุดหนุนให้กลุ่ม BTS จะอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท
การวิเคราะห์ Sensitivity ชี้ให้เห็นว่าทุกๆ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร 10% จะเพิ่มกำไรของ BEM ประมาณ 9% จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อกำไรในปี 2568 เนื่องจากนโยบาย ค่าโดยสารคงที่นี้จะเริ่มใช้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2568 แต่ผลกระทบเต็มที่จะปรากฏในกำไรตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
สำหรับ BTS ผลกระทบจะรุนแรงกว่า BEM เนื่องจากคาดว่า BTS จะมีกำไรที่น้อยลงในปี 2569และปี 2570 และ ทุกๆ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสาร 10% สำหรับสายสีเขียวหลัก สายสีชมพู และสายสีเหลือง จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 86% ในปี 2569 และ 30% ในปี 2570
ชดเชยอย่างน้อย 6 พันล้านบาท ดันกำไร 10%
ส่วนความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า จากการคำนวณ sensitivity หากอิงปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันของเส้นทางสายสีน้ำเงิน สายสีเขียวหลัก สายสีเหลือง และสายสีชมพู
เบื้องต้นประเมินรัฐจะต้องใช้เงินชดเชยรวมอย่างน้อยราว 5 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่หากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 20% ประเมินรัฐจะต้องใช้เงินชดเชยอย่างน้อย 6 พันล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวงเงินอุดหนุนของกระทรวงคมนาคมที่ 8 พันล้านบาท/ปี และจะช่วยเพิ่มกำไร BEM และ BTS ราว 10%