“รฟท.” ปักธง ก.ย.นี้ ลุยประมูลงานโยธา “ไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2”
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับงานสัมมนาโครงการศึกษาทบทวนและวิเคราะห์ความเหมาะสมของการจัดทำเอกสารประกวดราคา ตลอดจนแนวทางดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2) นั้น
“โครงการดังกล่าวจะเป็นการหาพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมลงทุน หลังจากที่ผมเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่ารฟท. ซึ่งพบว่าโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ถือเป็นโครงการแรกที่ผมมีส่วนร่วมในการผลักดันเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครับและเอกชน (PPP) อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ช่วยภาครัฐลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในงานระบบบำรุงรักษา (O&M)” นายวีริศ กล่าว
นายวีริศ กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้แล้วเสร็จ จากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ภายในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งจะได้ข้อสรุปผลการศึกษา
และส่งรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อกระทรวงคมนาคมภาย ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ,คณะกรรมการ PPP และคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2569
ทั้งนี้ตามแผนรฟท.จะดำเนินการจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนในการประมูลงานระบบบำรุงรักษา (O&M) ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน
ซึ่งจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูล PPP ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2569 สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 และเปิดให้บริการตลอดสายภายในปี 2574
ขณะเดียวกันจากการก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา พบว่า โครงการมีความล่าช้ามากจากการแบ่งสัญญาย่อยมากเกินไป จนทำให้เกิดฟันหลอในบางช่วง
หากมีสัญญาใดติดขัดจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการทั้งหมด รวมถึงการเวนคืนที่ดิน เบื้องต้น รฟท.ได้นำบทเรียนนี้มาปรับใช้กับไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 เพื่อลดความซับซ้อนและเร่งรัดกระบวนการเป็นไปอย่างราบรื่นและลดอุปสรรคในการก่อสร้าง
นายวีริศ กล่าวต่อว่า การเปิดประมูล PPP ในโครงการนี้ มองว่าการลงทุน การวางระบบและการเดินรถ (Operate) ตลอดทั้งเส้นทาง ควรเป็นผู้เดินรถรายเดียวตลอดทั้งสาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ความเป็นไปได้ที่เอกชนสนใจลงทุนโครงการนี้ คาดว่าเป็นภาคเอกชนไทยที่ปัจจุบันเดินรถไฟฟ้าในประเทศ ประมาณ 2-3 ราย
ส่วนเอกชนในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน อาจสนใจร่วมลงทุน แต่ต้องร่วมกับบริษัทในไทยในรูปแบบ Partnership ร่วมกัน
ขณะที่ความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาของไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 วงเงิน 237,454.86 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการแบ่งสัญญาเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเหมือนกับระยะที่ 1 คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้
จากนั้นจะดำเนินการจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) ภายในเดือนส.ค.นี้ และเปิดประมูลเพื่อสร้างงานโยธาได้ภายในเดือน ก.ย. 2568
สำหรับไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงินลงทุน 341,351 ล้านบาท โดยตลอดเส้นทางทั้ง 2 ระยะ จะใช้ขบวนรถไฟรวมทั้งหมด 18 ขบวน ซึ่งเป็นมาตรฐานของจีน เบื้องต้นจะมีการสั่งซื้อขบวนรถไฟเพิ่ม 14 ขบวน
จากเดิมที่มีขบวนรถไฟ 4 โดยการศึกษา PPP นี้จะระบุแนวทางที่ภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุนจะเข้ามาจัดการหรือเช่าทรัพย์สิน โดยเฉพาะขบวนรถ ที่รัฐได้ดำเนินการจัดซื้อไปแล้ว
นอกจากนี้รฟท.ได้คาดการณ์การผู้โดยสารและค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการในปี 2574 จะมีปริมาณผู้โดยสารตลอดสายช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ประมาณ 7,000 คนต่อวัน ซึ่งแบ่งการเปิดให้บริการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 คนต่อวัน ในปี 2572
อย่างไรก็ดีในปี 2574 จะมีปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการช่วงนครราชสีมา-หนองคาย (ตลอดสาย) กว่า 1,000 คนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารจะต้องมีการปรับปรุง เนื่องจากข้อมูลเดิมอิงจากผลการศึกษาเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ซึ่งจะมีการทบทวนตัวเลขผู้โดยสารและค่าโดยสารใหม่ในการศึกษาปัจจุบันอีกครั้ง