สว.เห็นชอบ ‘สราวุธ’ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน ‘ร.ต.อ.สุธรรม’ ไม่ผ่าน
สว.เห็นชอบ "สราวุธ" เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน "ร.ต.อ.สุธรรม" ไม่ผ่าน ด้าน "ณรงค์ กลั่นวารินทร์" ผ่านโหวตเป็น กกต.
เช้าวันนี้ (22 ก.ค.) ที่วุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีวาระประชุม สว.ให้ความเห็นชอบศาสตราจารย์ ร้อยตำรวจเอก สุธรรม เชื้อประกอบกิจ และสราวุธ ทรงศิวิไล ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่งทำหน้าแทนประธาน หลังจากให้ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ร.ต.อ.สุธรรม และสราวุธ ชี้แจงรายงานส่วนเปิดเผยแก้วุฒิสภา จากนั้นได้เปิดให้สมาชิกรวมอภิปราย
นางนันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงปัญหาที่ สว.ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีฮั้วเลือก สว. เข้ามาทำหน้าที่เลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอย่างคณะกรรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทั้งที่เมื่อ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการร่วมของ กกต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนผู้ถูกกล่าวหาในคดีฮั้ว สว. ที่มี สว.รวมอยู่ด้วย 138 ราย เกือบ 3ใน 4 ของสภาและจะส่งฟ้องไปที่ กกต.ซึ่งเป็นการขัดกันกับคดีที่ สว.เองเพิ่งถูกกล่าวหาหาก กกต.จะพิจารณาคดีออกมาแล้วเป็นคุณกับ สว.ที่เลือกเข้ามา และประชาชนจะรู้สึกอย่างไร กระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้จะเป็นอย่างไร และองค์กรอิสระจะยังเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนได้อีกหรือไม่
นันทนาก ล่าวต่อว่า นอกจาก กกต. แล้ว สว.เองก็มีเรื่องร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรองนายกรัฐมนตรีผิดจริยธรรมร้ายแรงจากการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงคดีฮั้ว สว.และได้ขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย แต่ สว.ที่ถูกกล่าวหากำลังจะใช้ตำแหน่ง สว.ในการลงมติรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วยกลับไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่
หลังจากนั้นนันทนาถูก สว.หลายคนประท้วงว่าเป็นการอภิปรายซ้ำในเรื่องที่เคยมีการลงมติไปแล้วและรองประธานให้หยุดอภิปรายรวมถึงปิดไมค์ของนันทนา แต่นันทนายืนยันว่าไม่ได้อภิปรายซ้ำเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะลงมติรับรองและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ และเห็นว่าการที่เธอถูกสั่งไม่ให้อภิปรายเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนที่ควรจะได้รับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้
จากนั้น พล.อ.เกรียงไกร ได้เปิดให้ สว.ที่ลงชื่อขออภิปรายไว้ได้อภิปรายต่อ โดยมีอีกเพียง 4 คน คือวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ,สิทธิกร ธงยศ และอัจฉรพรรณ หอมรส ที่กล่าวขอให้สมาชิกลงมติโดยถี่ถ้วน ส่วนเทวฤทธิ์ มณีฉาย กล่าวย้ำถึงประเด็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ สว.จะเป็นผู้ลงมติเลือก กกต.และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้
หลังอภิปราย นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สองทำหน้าที่แทนประธานดำเนินการเปิดให้ลงมติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คนต่อ โดยผลการลงมติมีดังนี้
- ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ มีผู้แสดงตัวลงมติ 189 คน เห็นชอบ 39 คน ไม่เห็นชอบ 118 คน งดออกเสียง 30 คน ไม่ลงคะแนน 2 คน
- นายสราวุธ ทรงศิวิไล มีผู้แสดงตัวลงมติ 189 คน เห็นชอบ 143 คน ไม่เห็นชอบ 17 คน งดออกเสียง 27 คน ไม่ลงคะแนน 2 คน
หลังจากนั้นที่ประชุมดำเนินการประชุมเพื่อลงมติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ต่อคือ ณรงค์ กลั่นวารินทร์ โดยให้เป็นการประชุมลับ
หลังการประชุม บุญส่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต่อและเปิดให้ สว.ลงมติโดยมีผลลงมติว่า ณรงค์ มีผู้แสดงตัวลงมติ 187 คน เห็นชอบ 165 คน ไม่เห็นชอบ 1 คน งดออกเสียง 20 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ตีตกคำร้องฟัน 'กกต.' จัดเลือก สว. ไม่สุจริตปล่อย 'ภท.' ครอบงำ
- ‘จุลพันธ์’ ย้ำ รัฐบาลไม่ถึงทางตัน ไร้แนวคิดยุบสภา ลุ้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบวก
- 'นายกฯ อุ๊งอิ๊ง' เคลื่อนไหวครั้งแรก!! หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่
ติดตามเราได้ที่