ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน!! รับมือสารพัดวิกฤติพลังงานทั่วโลก
ภูมิทัศน์ใหม่ของตลาดพลังงานโลก
สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางครั้งล่าสุดทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในตลาดพลังงานโลก ต่างจากวิกฤติก่อนหน้า เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผลักดันราคานํ้ามันดิบทะลุ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคานํ้ามันในครั้งนี้ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบไม่ถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล การที่ตลาดไม่ตื่นตระหนกเหมือนอดีตมาจากหลายปัจจัย ประการแรก การเพิ่มขึ้นของการผลิตจากแหล่งพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการผลิต Shale Oil และ Shale Gas ในสหรัฐอเมริกา ประการที่สอง หลายประเทศมีการสำรองนํ้ามันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ที่แข็งแกร่งขึ้น มักจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาล ความต้องการใช้ไฟฟ้า และปิดซ่อมบำรุงของแหล่งผลิต มากกว่าปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์โดยตรง
ความเสี่ยงจากช่องแคบฮอร์มุซ
จุดที่น่าจับตา คือ ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งพลังงานที่สำคัญของโลก แม้ความเป็นไปได้ที่ช่องแคบแห่งนี้จะถูกปิดอย่างสมบูรณ์จะมีไม่มากนัก แต่หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อการจัดหา LNG ทั่วโลกถึง 20% หรือประมาณ 83 ล้านตันต่อปี สำหรับประเทศไทย ความเสี่ยงมีอยู่ใน 2 ด้านหลัก คือ 1. การนำเข้า LNG จากกาตาร์ ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 68 อาจกระทบต่อการส่งมอบ LNG จำนวน 4 ลำเรือ (ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) 2. การนำเข้านํ้ามันดิบจากตะวันออกกลางซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 58.9% ของการนำเข้าทั้งหมด
แผนรับมือของภาครัฐ
ได้วางแผนรับมือในหลายมิติ สำหรับ ด้านก๊าซธรรมชาติ มีการเร่งรัดการจัดหาจากตลาดจร โดยมองหาแหล่งทดแทนจากออสเตรเลีย มาเลเซีย และประเทศใกล้เคียง พร้อมทั้งเจรจากับคู่ค้ารายอื่นเพื่อขอเลื่อนกำหนดการส่งมอบให้เร็วขึ้น รวมถึงเจรจากับผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพื่อขอเลื่อนแผนการซ่อมบำรุง และประสานงานกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำหรับ ด้านนํ้ามัน ข้อมูลแสดงว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองตามกฎหมาย รวมประมาณ 63 วัน (นํ้ามันดิบ 46 วัน นํ้ามันสำเร็จรูป 17 วัน) และกระทรวงพลังงานได้ประสานผู้ค้านํ้ามันเพื่อเตรียมจัดหานํ้ามันดิบจากแหล่งอื่นนอกตะวันออกกลางไว้แล้ว ใน ด้านไฟฟ้า มีการประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เตรียมความพร้อมเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโดยใช้นํ้ามันดีเซลและนํ้ามันเตาเป็นเชื้อเพลิงสำรองในกรณีจำเป็น
ภัยคุกคามมิติใหม่: ความมั่นคงทางไซเบอร์
กระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครง สร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศด้านพลังงาน มีการซ้อมแผนรับมืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้งตามกฎหมาย และมีกลไกเฝ้าระวังร่วมกับ หน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ
ประเมินความพร้อม: เพียงพอหรือไม่
จากการศึกษาข้อมูลและมาตรการต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมในระดับหนึ่ง แต่ความท้าทายที่เหลืออยู่คือการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีระบบสำรองนํ้ามัน 63 วัน อาจเพียงพอสำหรับวิกฤติระยะสั้น แต่หากเกิดปัญหาเรื้อรัง อาจต้องมีการปรับแผนเพิ่มเติม การหาแหล่งพลังงานทางเลือกและการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการต่อไป สิ่งสำคัญคือการมีแผนสำรองที่ชัดเจนและการสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส เพื่อให้สังคมเข้าใจสถานการณ์และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น.