เปิดข้อกฎหมาย "จอนนี่ มือปราบ"ถูกกล่าวหา งานนี้แทบจะหมดประตูสู้
กรณีวันที่ 7 ก.ค.68 ทางเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แจ้งจับ "จอนนี่ มือปราบ" ยุทธพล ศรีสมพงษ์ อดีตตำรวจที่ผันตัวลาออกจากราชการมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ สร้างรีสอร์ทรุกล้ำเขตนิคมสร้างตนเอง จ.อุบลราชธานี หลังพยายามส่งหนังสือแจ้งให้ยุติการทำรีสอร์ทแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือ หนำซ้ำยังถูกข่มขู่
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าทางทนาย รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ได้ออกมาวิเคราะห์เปิดแง่มุมทางข้อกฎหมายในกรณีนี้ว่า นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ที่จอห์นนี่มือปราบถูกกล่าวหาถ้าดูในข้อกฎหมายแทบจะหมดประตูสู้เลย เนื่องจาก
(1) ที่ดินที่เข้าไปครอบครองนั้นเป็นพื้นที่ส่วนกลางของนิคม ซึ่งตามกฎหมายไม่มีใครมีสิทธิส่วนตัวอยู่ก่อนและรัฐห้ามบุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต (ผิดมาตรา 15)
(2) ผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่สมาชิกนิคมลำโดมน้อยมาก่อน ไม่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จากกรมพัฒนาสังคมฯ แต่อย่างใด กรมฯ ยืนยันว่าตรวจสอบประวัติแล้ว ไม่เคยมีการอนุญาตสิทธิให้บุคคลนี้ และแน่นอนว่ายังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวออกมา
ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมาแต่ต้น การสร้างสิ่งปลูกสร้างรีสอร์ตถือเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นหากมีการแผ้วถางป่า ตัดไม้ หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ก็เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายป่าไม้เพิ่มเติมด้วย
ผู้ถูกกล่าวหาอาจกล่าวว่าตนได้ซื้อหรือรับโอนสิทธิมาจากชาวบ้านรายหนึ่งที่อ้างว่ามีสิทธิดั้งเดิมในที่ดินแถบนั้น (เช่น เป็นสมาชิกนิคมที่อยู่ติดกันหรือเคยทำกินบริเวณนั้นมาก่อน) อย่างไรก็ดี หากเป็นพื้นที่ป่าไม้ส่วนกลางจริง ชาวบ้านคนดังกล่าวก็ไม่มีสิทธิจะขายหรือโอนให้ใคร เพราะไม่เคยถูกจัดสรรให้ (ที่ดินยังเป็นของรัฐ) และต่อให้เป็นพื้นที่ส่วนที่มีชาวบ้านครอบครองอยู่ การขายสิทธินิคมให้เอกชนอื่นโดยพลการก็ทำไม่ได้อยู่ดีตามมาตรา 27(6)
ถ้าอธิบายภาษาชาวบ้านง่ายง่ายก็คือตอนที่เข้าครอบครองที่ดินไม่สามารถเข้าครอบครองได้แบบถูกกฎหมายเพราะว่ายังถือว่าเป็นที่ของรัฐอยู่รัฐอนุญาตให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้แต่ห้ามทำการจำหน่ายจ่ายโอนยกเว้นจะมีโฉนดที่ดินออกมาแล้ว
แต่ก็แปลกไม่ใช่น้อยอยู่มาร้อยวันพันปีไม่เคยมีการตรวจสอบพอจอห์นนี่มือปราบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ถูกตรวจสอบทันทีไม่แปลกที่จอห์นนี่จะบอกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างไรก็ตามก็ต้องย้อนกลับไปว่าที่มาที่ไปถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ในการเลือกดำเนินคดีจะบอกว่าละเว้นหรือเลือกปฏิบัติก็คงต้องอยู่ที่หน่วยงานในพื้นที่ว่าบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ อาจจะมีบางรีสอร์ทช้าหรือบางรีสอร์ทไวมากๆก็เป็นไปได้
ศาลฎีกามีคำพิพากษาหลายคดีที่ยืนยันหลักการว่า ที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเองยังคงเป็นที่ดินของรัฐจนกว่าจะมีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ (สมาชิกนิคม) มีเพียงสิทธิครอบครองตามกฎหมายเฉพาะเท่านั้น ยังมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เด็ดขาด และ การจะโอนสิทธิครอบครองนี้ให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นการโอนจะไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563
แนวคำพิพากษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า : หากการโอนสิทธิในที่ดินนิคมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย (เช่น ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมฯ, โอนโดยใช้อำนาจมรดกทั่วไปหรือซื้อขายกันเอง) ศาลจะถือว่าผู้รับโอนมีสิทธิไม่ดีกว่าผู้โอน กล่าวคือ ได้สิทธิครอบครองมาเพียงเท่าที่ผู้โอนมีเท่านั้น และถ้าผู้โอนเองไม่มีสิทธิจะโอน (เพราะกฎหมายห้ามโอนหรือสิทธินั้นหมดไปแล้ว) ผู้รับโอนก็จะไม่ได้สิทธิใด ๆ ในทางกฎหมายเลย กลายเป็นผู้บุกรุกยึดถือที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายรองรับ
นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาฎีกาอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน เช่น ฎีกาที่ 226/2510 วินิจฉัยว่าหากมีกรณีพิพาทแย่งสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคม ผู้ชี้ขาดคือเจ้าหน้าที่นิคมและหลักฐานในนิคมนั้น ใครมีชื่อในทะเบียนและหลักฐานของนิคมก็เป็นพยานหลักฐานที่ศาลยึดถือว่าเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบ เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ฎีกาที่ 5681/2538 ซึ่งวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินที่มี น.ส.3 (หนังสือแสดงการทำประโยชน์) ที่มีเงื่อนไขห้ามโอน 10 ปีตามกฎหมายที่ดินว่า ผู้ได้รับที่ดินนั้นยังไม่มี “สิทธิครอบครอง” สมบูรณ์ในทางปกครอง จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้ใครได้จนกว่าจะพ้นระยะห้ามโอน ยกเว้นเป็นการตกทอดทางมรดก  แนวคิดนี้สอดคล้องกับกรณีนิคมสร้างตนเองซึ่งสมาชิกยังไม่มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดและห้ามโอนสิทธิโดยพลการเช่นกัน