อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาไล่เรียงมาตรฐานจริยธรรมองค์กรตามรัฐธรรมนูญเรื่องคุกคามทางเพศ!
24 ก.ค.2568 - นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “มาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ” ระบุว่า
เมื่อวันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2568 มีรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศราว่า ผู้อำนวยการศูนย์ของไทยพีบีเอส ฟ้องไทยพีบีเอส ขอให้เพิกถอนคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากงานในข้อกล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศต่อนางสาว อ. ที่มาสมัครงานเป็นเลขานุการของตน เป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับและและสัญญาจ้าง
แต่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และขาดจริยธรรมของผู้บริหารอันชอบที่จะได้รับโทษให้ปลดออกจากงานได้ ตามระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2563 และสัญญาจ้าง
(คดีหมายเลขดำที่ บ.345/2565 หมายเลขแดงที่ บ.258/2568 ระหว่าง นาย ส. (ผู้ฟ้องคดี) กับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี))
ผู้เขียนมีข้อมูลและความเห็นดังนี้
1.การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) หมายถึงการกระทำทางเพศที่เกิดขึ้นโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม ซึ่งรวมถึงการมอง การพูดจา การส่งข้อความลามก หรือการแตะต้องตัว โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายก็อาจถูกคุกคามทางเพศได้เช่นกัน นอกจากนี้ การคุกคามทางเพศออนไลน์ (Cyber Sexual Harassment) ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (Thailand Institute of Justice : TIJ)
2.หากคดีนี้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของ สส., สว., รัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งห้าองค์กร ก็ต้องใช้มาตรฐานทางจริยธรรมฯ พ.ศ. 2561 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2561 เป็นต้นมา
3.มาตรฐานทางจริยธรรมที่เกี่ยวกับข้อห้ามกระทำการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ มีข้อความว่า “ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำต้องยอมรับในการกระทำนั้น ไม่นำความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพลครอบงำให้ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด” (ข้อ 20 ของหมวด 2 ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก)
4.การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว จะถือว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ นั้น (ข้อ 27 วรรคสอง)
5.ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาว่า สส., สว., รัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งห้าองค์กร มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องไต่สวนข้อเท็จจริง
หากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์ตามที่ไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
6.เมื่อศาลฎีการับคำร้องไว้พิจารณา ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องคำพิพากษานั้นต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
7.ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น สส., สว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235)