โลกร้อนเขย่ายอดเขาสูง! มงบล็องเสี่ยงแผ่นดินไหวพุ่ง 10,000 เท่า นักวิจัยชี้ภัยเงียบจากน้ำแข็งละลาย
ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยใหม่จากนักวิทยาศาสตร์สวิสได้เผยให้เห็นผลกระทบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า “ภาวะโลกร้อน” อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่เทือกเขาสูงของยุโรป งานวิจัยฉบับนี้ได้ยืนยันเป็นครั้งแรกถึงความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับกิจกรรมแผ่นดินไหวใต้แนวเขา “มงบล็อง” (Mont Blanc Massif) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาแอลป์และยุโรปตะวันตก
ศูนย์บริการแผ่นดินไหวแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Seismological Service – SED) รายงานว่า ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2015 เป็นต้นมา บริเวณ “กร็องด์ โฌราสส์” (Grandes Jorasses) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมงบล็อง มีการเกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องและมีรูปแบบที่ชัดเจน แตกต่างจากในอดีตที่พื้นที่นี้แทบไม่มีประวัติแผ่นดินไหวเลย ความเสี่ยงแผ่นดินไหวโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และในช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ ความเสี่ยงเฉียบพลันที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3 หรือมากกว่านั้นภายใน 24 ชั่วโมง พุ่งขึ้นถึง 10,000 เท่า
นักวิทยาศาสตร์จาก ETH Zurich, BRGM ประเทศฝรั่งเศส และ Isterre เมืองเกรอน็อบล์ ได้ศึกษาปรากฏการณ์นี้อย่างลึกซึ้ง และพบว่า ตัวการสำคัญคือ “ความร้อน” ที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน คลื่นความร้อนที่ถาโถมในแต่ละปีทำให้ “เพอร์มาฟรอสต์” หรือชั้นดินที่เคยเยือกแข็งถาวร เริ่มละลายลงมาเรื่อย ๆ พร้อมกับการละลายของธารน้ำแข็งที่เร่งตัวขึ้น
ผลที่ตามมาคือ โครงสร้างของภูเขาเริ่มอ่อนแอลง หินผาแตกตัวมากขึ้น เกิดการพังทลายและถล่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ช่องทางการซึมของน้ำละลายเปลี่ยนไป น้ำจึงไหลซึมลงลึกและเพิ่มแรงดันในโพรงหินใต้ดิน จนทำให้เกิดแรงดันและแรงเครียดในเปลือกโลก เปรียบเสมือนการจุดชนวนให้เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่เคยสงบมาโดยตลอด
งานวิจัยนี้ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางกายภาพจากภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนสำคัญว่า ระบบนิเวศน์และธรณีวิทยาบนโลกเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งและซับซ้อน เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป กระบวนการในชั้นเปลือกโลกก็ได้รับผลสะเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเข้าใจเรื่อง “โลกร้อน” จึงไม่ควรจำกัดอยู่แค่การละลายของน้ำแข็ง หรือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น แต่ควรครอบคลุมถึงผลกระทบทางธรณีภัยในระดับลึกอย่างแผ่นดินไหว ดินถล่ม หรือแม้แต่ภูเขาไฟระเบิดในอนาคต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยมีประวัติภัยพิบัติมาก่อน ทำให้การเตรียมความพร้อมและวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง
ในขณะเดียวกัน การวิจัยชิ้นนี้ยังตอกย้ำถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อชะลอภาวะโลกร้อนก่อนที่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เราเคยเชื่อว่าควบคุมไม่ได้ จะยิ่งทวีความรุนแรง และสร้างผลกระทบในรูปแบบใหม่ที่ยากจะคาดเดา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทะเลร้อน หอยสู้ไม่ไหว! หอยเทอร์โบซาซาเอะ อพยพหนีวิกฤตภูมิอากาศ
- หมู่บ้านในเทือกเขาหิมาลัย ที่ยอมแพ้ต่อ “โลกร้อน”
- โลกร้อนทำ “เลิฟบั๊ก” ระบาด จับคู่ผสมพันธุ์กลางอากาศทั่วกรุงโซล
- อุตุฯโลกชี้ “โลกร้อนจัด” เมืองร้อน ทะเลเดือด คนล้มตาย และเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน!
- โลกร้อนเร่งการเติบโตของเชื้อราแอสเพอร์จิลลัส เสี่ยงโรคทางเดินหายใจ