เส้นทางพายุ “วิภา” กระทบเหนือ อีสาน เตือนฝนตกน้ำท่วมซ้ำซาก
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเส้นทางและฝนกระทบจากพายุโซนร้อนวิภาเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ฝนตกน้ำท่วมซ้ำซากในภาคเหนือและอีสาน
1.พายุวิภาทวีกำลังแรงพัดปกคลุมฟิลิปปินส์
พายุโซนร้อนวิภา หรือที่รู้จักกันในชื่อพายุคริสซิงในฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมเกาะลูซอน ของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายภูมิภาค การคาดการณ์ปัจจุบันระบุว่าพายุจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือเหนือเกาะฮ่องกงประมาณเวลา12:00 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) ของวันที่ 20 กรกฎาคมตามแนวชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน และเคลื่อนตัวเข้าสู่เวียดนามตอนเหนือในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568
2.จีนประกาศเตือนภัยฝนตกหนักหลายมณฑล
สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาที่กว่างโจว ประเทศจีนแจ้งเตือนโดยคาดว่าพายุไต้ฝุ่นวิภาจะขึ้นฝั่งที่ใดที่หนึ่งในมณฑลฝูเจี้ยน กวางตุ้ง และไหหลำ ทางตอนใต้ของประเทศจีน ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม ถึงวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2568 โดย เจ้าหน้าที่ในมณฑลไหหลำประกาศว่าอาจสั่งระงับการเดินทางระหว่างมณฑลไหหลำและจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ มีการออกคำเตือนฝนตกหนักในเมืองเซินเจิ้น ขณะที่ฮ่องกงเตือนเฝ้าระวังสูงสุด ฝนจะตกหนักและอาจเกิดน้ำท่วมช่วงวันที่ 20-21 กรกฎาคม เช่นกัน
3. พายุวิภาจ่อพัดขึ้นฝั่งที่เวียดนาม
เวียดนามคาดการณ์ว่าพายุวิภาจะเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยในเช้าวันจันทร์ที่ 21 กค.68 และจะส่งผลกระทบต่อแผ่นดินใหญ่ในช่วงดึกของคืนวันนั้นโดยในระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคม 2568 ภาคเหนือและภาคกลางของเวียดนามอาจเผชิญกับฝนตกหนักถึงหนักมาก
4.แม้พายุลดกำลังลงแต่อิทธิพลยังกระทบไทย
พายุโซนร้อนวิภาเมื่อเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยและขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามจะอ่อนกำลังลงตามลำดับเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่มีกำลังลดลงและพัดเข้าสู่ประเทศไทยแต่อาจจะยังส่งผลกระทบให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตกได้ในช่วงวันอังคารที่ 22 ถึงวันพฤหัสที่ 24 กรกฎาคม 68 โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกและน้ำท่วมซ้ำซากได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เป็นต้น
5. วิกฤตสภาพภูมิอากาศเร่งพายุแรงขึ้นทุกปี
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความร้อนในบรรยากาศบริเวณพื้นที่มหาสมุทรที่มากขึ้น ลมเฉือนที่ต่ำลง และการแยกตัวของชั้นบรรยากาศในระดับบนที่เอื้ออำนวย คาดว่าจะสนับสนุนให้พายุทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ฝนร้อยปีถล่มเกาหลีใต้วันที่ 4 น้ำท่วมสูงไม่หยุด เสียชีวิตแล้ว 4 คน อพยพอีก 7,000 คน
- อากาศร้อนคุกคามโลกกีฬา เด็กยุคใหม่อาจเล่นได้แค่กีฬาในร่ม
- น้ำท่วม “ยาคูเตีย” ระดับน้ำสูงเกือบมิดหลังคา แม้แต่พื้นที่หนาวที่สุดในโลกก็ไม่รอด
- “ฮังการี” อ่วมสุดในยุโรป เจอทั้งฝนหนัก คลื่นร้อนรุนแรง นักวิทย์ฯ ชี้นี่คือสัญญาณเตือนจากโลกร้อน
- "เขื่อนเจ้าพระยา" ปรับการระบายน้ำเพิ่มรองรับน้ำเหนือ