‘อาจารย์อุ๋ย’ เรียกร้อง!! รัฐบาลให้กดดัน ‘กัมพูชา’ รับผิดชอบ ‘กับระเบิด’ ชี้!! ละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ห้ามใช้ กักตุน ผลิต ทุ่นระเบิดสังหาร
(19 ก.ค. 68) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า …
จากกรณีที่พลทหาร 3 นาย ของไทย เหยียบกับระเบิดของกัมพูชาขณะเดินลาดตระเวนริมชายแดนนั้น นอกเหนือจากการเยียวยาความเสียหายให้กับตัวผู้บาดเจ็บแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องกระทำทันทีคือการเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งห้ามการใช้ กักตุน ผลิตหรือขนส่งทุ่นระเบิดสังหารส่วนบุคคล (anti-personnel mines)
ซึ่งการแสดงความรับผิดชอบของรัฐเมื่อเกิดการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมีได้หลากหลายวิธี โดยบัญญัติไว้ในบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของรัฐในกรณีการกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ 2544 (Articles on Responsibility of States for Internationally Wrongful Acts 2001) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ARSIWA ซึ่งร่างโดย คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ILC) ซึ่งเป็นองค์กรย่อยของสหประชาชาติ โดยรัฐใดรัฐหนึ่งจะต้องรับผิดต่ออีกรัฐหนึ่งเมื่อเกิดการกระทำที่ฝ่าฝืนพันธกรณีระหว่างประเทศ
ซึ่งในกรณีนี้กัมพูชาฝ่าฝืนอนุสัญญาออตตาวา จนทำให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บและพิการ ซึ่ง ARSIWA กำหนดให้รัฐที่กระทำผิดต้องยุติการกระทำผิด และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ (cessation and non-repetition) ตามมาตรา 30 ซึ่งในกรณีนี้กัมพูชาต้องแถลงขอโทษ เอาทุ่นระเบิดสังหารออกทั้งหมด และ รับผิดชอบเยียวยาและชดใช้ความเสียหายให้กับทหารไทยที่บาดเจ็บและทุพพลภาพ (reparation, restitution and compensation) ตามมาตรา 31 35 และ 36 โดยรัฐที่ทำผิดจะต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางวัตถุ ร่างกายและจิตใจ
โดยรัฐบาลไทยสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้โดยใช้วิธีกดดันทางการทูต หรือนำเรื่องเข้าสู่ประชาคมระหว่างประเทศเพื่อแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศก่อน เพื่อที่ไทยจะได้สงวนสิทธิในการป้องกันตนเองโดยการใช้กำลังอาวุธตามมาตรา 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) หรือสามารถนำเรื่องเข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือกลไกเฉพาะอื่น ๆ ขององค์กรระหว่างประเทศต่อไป เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติบนเวทีโลก และสำแดงให้นานาอารยประเทศเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่รักสงบ เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอย่างถึงที่สุด เว้นแต่จะถูกรุกรานด้วยการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศก่อน ด้วยความปรารถนาดี