‘ชาญวิทย์’ แจง ‘ปัลลวะ’ ต้นกำเนิดอักษรทั้งหมด ‘จาม-แขมร์-ขอม-ไทย-ลาว’ รับมาต่อ
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีมีกระแสการแชร์ภาพและคลิป ขณะชาวกัมพูชาได้ถือป้ายระบุว่า “พยัญชนะไทย 44 ตัวอักษร” นั้นเป็นของกัมพูชา โดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักเขียนและนักกฎหมายประวัติศาสตร์ไทย เคยบรรยายให้นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 22 (SEAS-TU22) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 เพื่อทัศนศึกษาในวิชา อศ. 210 สุวรรณภูมิและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ จ.ปราจีนบุรี และ ปราสาทสด๊กก๊อกธม (ชื่อเดิม ภัทรนิเกตนะ) ที่ จ.สระแก้ว ตอนหนึ่งว่า จารึกปัลลวะ คือ ต้นแบบของตัวอักษร ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบตัวอักษร ในพม่า มอญ ไทย เขมร ลาว ไล่ลงไปจนกระทั่งถึงตัวอักษรในชวา บาหลี รวมถึงเวียดนาม ต้นกำเนิดมาจากปัลลวะ คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ทมิฬ ปัลลวะเป็นชื่อราชวงศ์ของคนทมิฬ ซึ่งตัวอักษรเป็นปัลลวะ แต่ตัวภาษาเป็นสันสกฤต ส่วนสันสกฤตไม่มีตัวอักษรเช่นเดียวกับบาลีก็ไม่มีตัวอักษร
นายชาญวิทย์ บรรยายอีกว่า ตัวอักษรของปัลลวะ เมื่อมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นต้นกำเนิดของอักษรทั้งหมด ดังนั้น ทมิฬ เป็นอารยะ ให้ตัวอักษรแก่ จาม แขมร์ ขอม ซึ่งไทย ลาว รับมาต่อ, เป็นต้นกำเนิดอักษรมอญ ซึ่งกลายไปเป็นอักษรพม่าในปัจจุบัน แม้ตำรากระทรวงศึกษาไทยจะบอกว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นคนแต่งตัวอักษรไทย แต่จริงๆ ใช้เวลาเป็นร้อยเป็นพันปีกว่าจะมีตัวอักษร อยู่ที่ขั้นของการพัฒนา แปลว่าจามพัฒนาเร็วมาก แต่ตอนนี้ก็สลายไปกลายเป็นชนกลุ่มน้อยและเปลี่ยนศาสนาไปแล้ว ฉะนั้น จุดกำเนิดอารยะของพวกเรามาจากทมิฬ ซึ่งเราไปบอกว่าพวกเขาดำมืดอำมหิต อันเป็นวิธีการตีความแบบสิงหล
นายชาญวิทย์ บรรยายด้วยว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนาที่รับมาจากศรีลังกา เป็นการรับพุทธศาสนามาแบบมือสอง เราไม่ได้เอามาจากพุทธคยา หรือต้นกำเนิดพระพุทธเจ้า ฉะนั้น อะไรที่อยู่ในภาษา ในคำพูด ในไวยากรณ์ เช่น คำว่า ทมิฬ เราแปลว่าดำ มืด อำมหิต แต่ความจริง ทมิฬเป็นชนชาติหนึ่งที่อยู่ในอินเดียใต้และเป็น “อริ” กับสิงหลในศรีลังกานับพันปี เพราะฉะนั้น เวลาเรารับศาสนามาจากสิงหล เราก็รับอคติมาจากศรีลังกา ความจริง ทมิฬ คือคนชนชาติหนึ่ง นี่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์และลัทธิความเชื่อ.