เผยไตรมาส 2 ภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้น 16.57% เหตุจากเซิร์ฟเวอร์ในไทยถูกเจาะเพิ่มขึ้น
น.ส.เบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แคสเปอร์สกี้ ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันและบริการความปลอดภัยทางไซเบอร์ เปิดเผยว่า แคสเปอร์สกี้ตรวจพบเหตุการณ์อันตรายที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยที่ถูกเจาะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 2 ปี 68 (เม.ย. – มิ.ย.) โดยตรวจพบเหตุการณ์อันตรายจำนวน 223,700 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่หนึ่งที่มี 191,909 ครั้ง ถึง 16.57% ซึ่งประเทศไทยมีสถิติที่น่าจับตามองในรอบสามปีที่ผ่าน ในไตรมาสที่ 2 ปี 66 พบเหตุการณ์อันตรายทางไซเบอร์จำนวน 64,609 ครั้ง ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 196,078 ครั้ง และ 223,700 ครั้งในไตรมาสที่ 2 ปี 67 และ 68 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ในปี 67 ธุรกิจและองค์กรทั่วประเทศไทยต่างประสบกับภัยคุกคามจำนวนมาก โซลูชันของแคสเปอร์สกี้สามารถตรวจจับและบล็อกความพยายามโจมตีด้วยฟิชชิงทางการเงินได้ 247,560 ครั้ง ภัยคุกคามบนอุปกรณ์ 5,600,000 ครั้ง การโจมตีแบบบรูทฟอร์ซ 7,298,037 ครั้ง และการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ 13,958 ครั้ง
“รายงานแคสเปอร์สกี้ ชี้ว่าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนเหตุการณ์อันตรายที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกบุกรุกแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ตรวจพบจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์กลับมีจำนวนลดลง ทั้งนี้สิงคโปร์ยังคงมีจำนวนเหตุการณ์อันตรายสูงสุดในภูมิภาคในไตรมาสที่ 2 นี้ที่ 4,995,653 ครั้ง ผู้ก่อภัยคุกคามจะโจมตีและใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ถูกละเมิดเพื่อโฮสต์เว็บไซต์ใช้ส่งมัลแวร์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ทันระวังจะถูกหลอกล่อเข้าสู่เว็บไซต์อันตรายโดยใช้โฆษณาปลอม ลิงก์ฟิชชิงในอีเมล เอสเอ็มเอส และวิธีการอื่นๆ จากนั้นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของเหยื่อจะถูกอาชญากรไซเบอร์สำรวจเพื่อหาช่องโหว่และช่องทางละเมิด ในขณะที่ผู้ใช้เผชิญกับภัยคุกคามออนไลน์”
น.ส.เบญจมาศ กล่าวต่อว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นในประเทศไทยนั้นเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งพื้นที่ดิจิทัลที่กว้างขึ้น การนำดิจิทัลมาใช้รวดเร็วขึ้น และจำนวนผู้ก่อภัยคุกคามที่มีความช่ำชองที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของไทยได้รับแรงกระตุ้นจากโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น ประเทศไทย 4.0 การนำคลาวด์มาใช้ และโมบายแบงก์กิ้ง ทำให้จำนวนบริการออนไลน์และอุปกรณ์เชื่อมต่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดิจิทัลฟุตปริ้นต์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้อาชญากรไซเบอร์มีช่องทางเพื่อโจมตีได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระบบนั้นไม่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม