ธปท. เปิดเงื่อนไข “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 เพิ่มมาตรการใหม่ จ่าย-ตัด- ต้น
ธปท. เปิดเงื่อนไข “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 ปรับเกณฑ์ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ขยายเพดาน “จ่าย ปิด จบ” เพิ่มมาตรการ “จ่าย ตัด ต้น” ลงทะเบียนได้ถึง 30 ก.ย. 68 ชี้มีลูกหนี้เข้าเกณฑ์ 1.8 ล้านราย ยอดหนี้ 3.1 แสนล้านบาท
1 ก.ค. 2568 น.ส. สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เฉพาะกลุ่ม ภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" (โครงการฯ) นั้น
ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย ครอบคลุม 1.9 ล้านบัญชี และจากการสำรวจข้อมูลการคัดกรองคุณสมบัติลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 พบว่าลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ได้ มีจำนวน 6.3 แสนราย (คิดเป็นร้อยละ 32 ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติ เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 1.9 ล้านราย) เป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 52 ของยอดหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องเร่งติดต่อลูกหนี้เพื่อดำเนินการทำข้อตกลงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่มีปัญหาในการชำระหนี้ และพบว่าลูกหนี้ยังให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง แต่บางส่วนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด กระทรวงการคลัง สศช. ธปท. ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จึงเห็นควรขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 1 (จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2568) และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม
ทั้งนี้ภายใต้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ที่ยังคงยึดหลักการสำคัญเช่นเดียวกับโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้แก่ การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติเมื่อรายได้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า หรือให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น โดยออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเป็นการชั่วคราว และมีแนวทางป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) ควบคู่ไปด้วย จึงยังคงการพิจารณาคุณสมบัติของลูกหนี้ไว้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เช่นเดียวกับโครงการฯ ระยะที่ 1
โดยโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิม และมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”
ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้ามาตรการให้ครอบคลุมถึง
(1) ลูกหนี้ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน
(2) ลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระน้อยกว่าที่กำหนดในระยะที่ 1 คือ เคยค้างชำระ 1 - 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”
ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดย
(1) สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี
(2) สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี
โดยต้องมีวงเงินสินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนด ได้แก่ วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อบัญชี สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก "หนี้เสีย" เป็น "ปิดจบหนี้" และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
มาตรการที่ 3 “จ่าย ตัด ต้น”
ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี และเป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) และผ่อนชำระร้อยละ 2 ของเงินต้นคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักแขวนไว้ และจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างมาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปได้
“หากลูกหนี้มีความสามารถในการผ่อนชำระได้มากกว่าร้อยละ 2 เราก็สนับสนุนให้ลูกหนี้จ่ายมากกว่านั้นได้ เพื่อทำให้เงินต้นลดลงได้เร็วขึ้น โดยมาตรการนี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ต่างจากจ่ายปิดจบ เหมาะสำหรับลูกหนี้ที่ไม่มีกำลังจ่ายในครั้งเดียว โดยในช่วงที่เข้ามาตรการลูกหนี้จะไม่สามารถขอสินเชื่ออุปโภคบริโภคได้ในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ”
ทั้งนี้โครงการคุณสู้เราช่วย ระยะที่ 2 มีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการได้ 1.8 ล้านราย จำนวน 2 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้คงค้าง 3.1 แสนล้านบาท โดยลูกหนี้ที่มีความสนใจแก้หนี้ สามารถลงทะเบียนร่วมโครงการได้ทั้ง ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 หากมีคุณสมบัติตามเงื่อนไข
สำหรับกรณีที่ลูกหนี้ลงทะเบียนโครงการคุณสู้เราช่วยระยะที่ 1 แล้วถูกปฏิเสธเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข จะสามารถลงทะเบียนโครงการคุณสู้เราช่วยระยะที่ 2 ได้หรือไม่ น.ส. สุวรรณี เปิดเผยว่า หากลูกหนี้ไม่เข้าเงื่อนไขของโครงการระยะที่ 1 แต่เข้าเงื่อนไขของระยะที่ 2 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการใหม่ได้ ยกเว้นกรณีที่ลงทะเบียนระยะที่ 1 แล้วเจ้าหนี้ยังไม่แจ้งผลการพิจารณาในระบบ โดยเจ้าหนี้จะพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้อีกครั้ง โดยครอบคลุมคุณสมบัติทั้ง 2 ระยะ โดยลูกหนี้ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
“ธปท. ขอให้สถาบันการเงินไปดูว่ามีลูกหนี้ที่ลงทะเบียนว่ามีใครที่เข้าโครงการระยะ 1 ไม่ได้ แต่ตรงตามเงื่อนไขของระยะที่ 2 และให้สถาบันการเงินติดต่อเสนอมาตรการระยะที่ 2 ให้กับลูกหนี้เลย ทั้งนี้เมื่อลงทะเบียนแล้วขอให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาเดิมไปก่อนจนกว่าจะเริ่มทำสัญญาใหม่ตามกฎหมาย”
ส่วนเรื่องหากเข้าร่วมโครงการแล้วจะต้องทำตามเกณฑ์การห้ามก่อหนี้ใหม่ 12 เดือนจะทำให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่องหรือไม่ น.ส. สุวรรณี เปิดเผยว่า เกณฑ์ดังกล่าวไม่ทำให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่องเนื่องจากบางมาตรการลูกหนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนที่เพิ่มขึ้นจากค่างวดที่ลดลง ทั้งนี้การห้ามก่อหนี้ไม่รวมถึงการก่อหนี้เพื่อประกอบธุรกิจเนื่องจากเป็นการทำให้ลูกหนี้มีรายได้เพิ่มเติม
ขณะที่การเข้าร่วมโครงการจะทาให้ติดประวัติในเครดิตบูโรซึ่งจะส่งผลเสียกับผู้ที่เข้าร่วมโครงการจริงหรือไม่ น.ส. สุวรรณี เปิดเผยว่า การรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร เป็นการให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมโครงการซึ่งหากลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขจะสะท้อนให้เห็นความตั้งใจและมีวินัยในการแก้หนี้ และหากกรณีลูกหนี้ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการติดรหัสเป็น NPL อยู่การเข้าโครงการและสามารถชำระได้ตามเงื่อนไขในงวดแรก จะสามารถย้ายรหัสเป็นหนี้ปกติได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้
น.ส. สุวรรณี เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการปรับอัตราการจ่ายขั้นต่ำของยอดหนี้บัตรเครดิต (Min Pay) ว่าขณะนี้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งได้หารือกับผู้ประกอบการ และประเมินสถานะของลูกหนี้ ซึ่งคาดว่าในเร็วๆนี้จะสามารถแจ้งความคืบหน้าในรายละเอียดได้
ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 หรือติดต่อสาขาของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ หรือ BOT contact center ของ ธปท. โทร. 1213