เปิดมุมมอง “ลิซ่า งามตระกูลพานิช” วิกฤต2เด้ง เหล็กขาด-ค่าแรง 400 พุ่ง
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างหนักหน่วง จากวิกฤต “เหล็กขาดตลาด” และนโยบาย “ค่าแรงขั้นตํ่า 400 บาท” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และบางกิจการในต่างจังหวัดซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อต้นทุนการก่อสร้าง ระยะเวลาการดำเนินงานและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในภาคส่วนนี้
ไม่เพียงเท่านั้นสถานการณ์เหล็กขาดตลาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบหลักในการก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ ส่งผลให้ราคาเหล็กพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและการส่งมอบล่าช้า สร้างแรงกดดันมหาศาลต่อการบริหารจัดการโครงการ
ขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 400 บาท แม้จะเป็นนโยบายที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่กลับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ซํ้าเติมต้นทุนของผู้ประกอบการ
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่พึ่งพาแรงงานจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว ทั้งในด้านการบริหารจัดการต้นทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน หรือแม้กระทั่งการพิจารณาชะลอการลงทุนในบางโครงการ
จุดชนวนเหล็กขาดแคลน
ล่าสุดนางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่เหล็กขาดตลาด ส่งผลให้ 3 โรงงานขนาดใหญ่ปิดนั้น
มองว่าตั้งแต่เกิดเหตุตึกสตง.ถล่ม มีการให้ข่าวและพูดกันมากถึงคุณสมบัติเหล็กตัว T และเหล็ก non-T ทำให้บางหน่วยงานและเจ้าของงานเอกชนบางแห่งมีความไม่แน่ใจว่าควรจะใช้เหล็กชนิดใด
ทั้งนี้จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่กล้าผลิตเหล็กเข้าสู่ตลาดเต็มกำลังเหมือนเดิม รวมทั้งมีการปิดโรงงานที่ใช้กระบวนการผลิตแบบเตา If ทำให้เหล็กขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้นกว่า 15% นับตั้งแต่เกิดเหตุตึกสตง.ถล่ม
อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงเหล็ก T เป็นเหล็กที่ใช้กันมายาวนาน และไม่เคยเกิดปัญหาใดๆ ส่วนเหล็ก non-T เป็นเหล็กที่ต้องสั่งผลิตและมีราคาสูงกว่าเหล็กตัว T ประมาณ 1-1.25 บาท ต่อกิโลกรัม
แนะรัฐคุมราคาเหล็ก
ขณะเดียวกันในงานภาครัฐ หน่วยงานผู้ออกแบบควรจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าให้ใช้เหล็กชนิดใดและให้ราคาที่สอดคล้องกับชนิดของเหล็กที่ระบุให้ใช้
นอกจากนี้หากมีประเด็นว่าเหล็กที่ใช้กระบวนการผลิตแบบ If ไม่ได้คุณภาพ ภาครัฐก็ควรมีมาตรการในการจัดการโรงงาน ที่ใช้เตา IF ให้ปรับ ปรุงคุณภาพ และหากโรงงานดำเนินการแล้วก็ควรให้กลับมาเปิดดำเนินการผลิตได้ตามปกติ
“นอกจากนี้ยังไปถึงผู้ผลิตและระบบขนส่งทั้งหมดด้วย ย่อมเป็นผลดี อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมก่อสร้างมีปัจจัยลบ กดดันอยู่เยอะ คงต้องดูกันต่อไปว่าเงินส่วนนี้จะเข้าไปที่ไหนบ้าง” นางสาวลิซ่า กล่าว
ขึ้นค่าแรง 400 บาท ซํ้าเติมผู้รับเหมา
ส่วนกรณีที่มีการขึ้นค่าแรง 400 บาทในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้นั้น นางสาวลิซ่าประเมินว่า การขึ้นค่าแรงทุกครั้งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่แล้ว
แม้ว่าในเขตกรุงเทพฯส่วนมากจะมีค่าแรงสูงกว่า 400 บาท ส่วนที่เป็นกรรมกรและค่าแรงอาจจะยังไม่ถึงก็ต้องขยับขึ้น
อย่างไรก็ดีเมื่อค่าแรงขยับขึ้นในระบบทั้งหมดก็ต้องขยับขึ้นตาม ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี งานที่ผู้รับเหมากำลังทำอยู่ได้สัญญามาแล้วจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
“ช่วงเวลามีข่าวค่าแรงขยับขึ้น ค่าครองชีพก็จะขยับขึ้นตาม ซึ่งจะเดือดร้อนกันหมด เวลาค่าแรงขยับขึ้นค่าสินค้าต่างๆรวมถึงค่าขนส่งก็ต้องขยับขึ้นด้วย เพราะผู้ผลิตเขาก็ใช้แรงงานเหมือนกัน ดังนั้นผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงทุกครั้งมันมีทั้งผลกระทบทางตรงและผลกระทบทางอ้อม” นางสาวลิซ่า กล่าว
งบกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันจ้างงาน 4ล้านคน
นางสาวลิซ่า กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ภาครัฐมีการอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาทนั้น หากงบประมาณในส่วนนี้เข้ามาสู่อุตสาหกรรมก่อสร้าง เงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นและถึงคนจำนวนมาก เพราะอุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถจ้างงานประมาณ 4 ล้านคน
สำหรับงบประมาณกลางปี 2568 วงเงิน 157,000 ล้านบาท รัฐบาลมอบแต่ละหน่วยงานจัดทำคำของบประมาณเพื่อเร่งอนุมัติและดันงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในไตรมาส 3 ปี 2568
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ล็อตแรกวงเงิน 115,000 ล้านบาท จากโครงการที่เสนอเข้ามาทั้งหมดกว่า 400,000 ล้านบาท เพื่อให้มีการเริ่มดำเนินโครงการและผูกพันงบประมาณภายในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป
โดยงบกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรก วงเงิน 115,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 85,000 ล้านบาท คิดเป็น 73.7% แยกเป็นโครงการนํ้า 39,136 ล้านบาท คิดเป็น 33.9%และโครงการคมนาคม 45,864 ล้านบาท คิดเป็น 39.8%
2.ด้านการท่องเที่ยว 10,053 ล้านบาท คิดเป็น 8.7% 3.ด้านการส่งออก/ผลิตภาพ 11,122 ล้านบาท คิดเป็น 9.6% 4.ด้านเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ 9,201 ล้านบาท คิดเป็น 8%
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,110 วันที่ 3 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568