คุยกับ ‘เฮียนพ’ ล็อบสเตอร์ซิตี้ บรรทัดทองขาลง หรือแค่ต้องปรับตัว
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลายคนอาจสังเกตได้ถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไปในย่าน “บรรทัดทอง” จากที่เคยคึกคัก กลับดูเงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายแห่งเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดัน ทั้งจากเศรษฐกิจภายในประเทศและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักท่องเที่ยว
TODAY Bizview มีโอกาสพูดคุยกับ ‘เฮียนพ’ สิทธิฉันท์ วุฒิพรกุล เจ้าของร้าน Lobster City ในย่านบรรทัดทอง และหนึ่งในทายาทผู้สืบทอดธุรกิจร้าน ‘รสดีเด็ด’ ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่โด่งดังมากว่า 50 ปีจากรุ่นพ่อ โดยเฮียนพ เป็นเจ้าของร้านสาขาสามย่านและประตูน้ำ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ของย่านบรรทัดทองในตอนนี้ จากมุมมองของคนที่อยู่หน้างานจริง แล้วจะมาสรุปให้ครบจบผ่านบทความนี้
[ คนไทยคือลูกค้าหลัก 70% ของบรรทัดทองกำลังรัดเข็มขัด ]
‘เฮียนพ’ เริ่มต้นเล่าว่า ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจตอนนี้ กระทบกันทั่วโลก และถ้ามาดูบรรทัดทองตอนนี้ ‘ขาลง’ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้
ก่อนหน้านี้ จำนวนผู้คนที่เดินเข้ามาบรรทัดทองยังอยู่ในระดับวันละ 30,000–40,000 คน ยิ่งหลังแผ่นดินไหวมา เห็นได้ชัด ตอนนี้ปริมาณลูกค้าหดตัว ซักประมาณสองทุ่มก็เริ่มเงียบ พร้อมพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยซึ่งเป็นลูกค้าหลักถึง 70%
“เด็กนักเรียนที่เคยจ่ายมื้อละ 300 บาท ตอนนี้อาจลดเหลือ 200 เพราะพ่อแม่ต้องประหยัดตาม สถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ทำให้คนเริ่มคิดก่อนใช้ เก็บเงินไว้ใช้ช่วงวันหยุดหรือเทศกาลแทน”
โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.00–20.00 น. ซึ่งเป็นไพรม์ไทม์ของลูกค้าคนไทยที่จะมาบรรทัดทองแผ่วลง
‘เฮียนพ’ ย้ำว่าถ้าอยากพลิกยอดขาย ต้องเริ่มจากการดึงลูกค้าช่วงเวลานี้ให้กลับมา
[ นักท่องเที่ยวจีนหด กระทบบรรทัดทอง 10% ต้องปรับตัวเข้าหากลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ ]
นอกจากนี้ บรรทัดทองยังได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง คิดเป็นประมาณ 10% ของฐานลูกค้านักท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มเห็นกลุ่มใหม่ๆ เข้ามา เช่น ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย และอินเดีย
การปรับตัวของร้านในย่านบรรทัดทองจึงไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติหรือราคา แต่รวมถึง “การสื่อสารและความเข้าใจวัฒนธรรม” ของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม เช่น เพิ่มเมนูฮาลาลเพื่อรองรับชาวมาเลเซีย หรือเตรียมพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ได้ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ให้มากขึ้น
“เรารู้ว่าตอนนี้ ชาติอื่นเข้ามาแทนจีนมากขึ้น อย่าง มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ เราก็ต้องปรับตัวเสิร์ฟเขามากขึ้น เช่น มีเมนูฮาลาล เมนูมังสวิรัติ”
‘เฮียนพ’ เสนอไอเดียว่า หากรัฐสามารถช่วยโปรโมทผ่านอินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติ หรือเชื่อมโยงระบบขนส่งให้รถบัสนักท่องเที่ยวมาลงที่บรรทัดทองในเวลากลางคืน ก็จะยิ่งช่วยดึงลูกค้าใหม่เข้ามาได้มากขึ้น
[ ร้านปิดจริง แต่แค่ 2% คาดว่าในอนาคตอาจเกิด Price War ]
อย่างไรก็ตาม แม้บรรทัดทองจะดูเงียบลง แต่ร้านอาหารกว่า 300 ร้านในพื้นที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ และอัตราการปิดร้านยังต่ำเพียง 2% เท่านั้น
แต่สิ่งที่ ‘เฮียนพ’ คิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ คือ “ราคาที่เปลี่ยนไป” เพื่อดึงกลุ่มลูกค้ากลับเข้าร้านก็อาจจะต้องเริ่มปรับราคาลง หรือทำโปรโมชั่น ซึ่งอาจนำไปสู่ “สงครามราคา”
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ วัฏจักรของพฤติกรรมผู้บริโภคในรอบปี ซึ่ง ‘เฮียนพ’ ย้ำว่าเห็นชัดเจนมากตั้งแต่2-3 ปีที่แล้ว
“กลางปี 2566 คนยังใช้เงินเยอะ บุฟเฟ่ต์บูม สตรีทฟู้ดแน่น เพราะเพิ่งหมดเทศกาล วันหยุดยาว ต่อด้วยปีใหม่ แต่พอเข้าพฤศจิกายน–มกราคม คนเริ่มประหยัด เพราะใช้เงินไปหมดแล้ว เริ่มเก็บเงินไว้ใช้ช่วงสงกรานต์ เทรนด์นี้เป็นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน”
และต้องยอมรับว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ย่านบรรทัดทองถือเป็นหนึ่งในถนนที่ “บูม” ที่สุดของกรุงเทพฯ บรรยากาศคึกคัก สดใส มีชีวิตชีวา ร้านอาหารเปิดใหม่มากมาย และหลายแบรนด์ก็ประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียง ผู้ประกอบการหลายคนก็พลิกชีวิตร่ำรวยได้จากถนนสายนี้
แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2567 ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยเริ่มแสดงตัวชัดเจนมากขึ้น แม้ภาพภายนอกจะยังเห็นผู้คนเดินแน่นถนนเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ “พฤติกรรมการใช้จ่าย”
จากเดิมที่ลูกค้าอาจหยิบเงินมาจ่ายมื้อละ 300 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 150 บาท ในขณะที่จำนวนคนยังเท่าเดิม ยอดขายกลับไม่สามารถรักษาระดับเดิมไว้ได้
หนึ่งในตัวชี้วัดที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงนี้คือ “เมนูอาหาร” ที่ผู้คนเลือก บรรดาอาหารจานเดียวราคาประหยัด (ไม่เกิน 150 บาท) กลายเป็นทางเลือกหลักของลูกค้า ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคกำลังปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจที่ตึงตัวขึ้น
และนั่นเองที่ทำให้ย่านบรรทัดทองในวันนี้ กลายเป็น ‘อินดิเคเตอร์’ หรือดัชนีที่พอจะชี้ให้เห็นสถานการณ์เงินในกระเป๋าคนไทยตอนนี้ และสภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจน
นอกจากประเด็นปากท้องเศรษฐกิจแล้ว อีกหนึ่งจุดคือ ย่านบรรทัดทอง “แพ้ฝน” เมื่อเข้าช่วงฤดูฝนสภาพคือ คนหายอีกระลอก ทำให้ช่วงกลางวันและบ่ายจึงยิ่งสำคัญ เพราะคนมักมาเดินในช่วงเวลานั้น ก่อนฝนตกและก่อนร้านจะเริ่มเงียบลงหลัง 2 ทุ่ม
แม้จะมีเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้ร้านอาหารในบรรทัดทองซาลง แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยฐานเดิมความโดดเด่นของบรรทัดทองในอดีตคือร้านเก่าแก่ชื่อดังที่มีฐานลูกค้าเหนียวแน่น เมื่อเริ่มมีคนรีวิว นักท่องเที่ยวก็ตามมาเข้าแถว ทำให้บรรทัดทองก็ยังถูกมองถึงการเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของอาหารสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ อยู่นั่นเอง
[ แล้วร้านอาหารในบรรทัดทองจะอยู่รอดแค่ไหน ? ]
ในมุมของ ‘เฮียนพ’ เสนอว่า เพื่อให้อยู่รอดร้านค้าต้องปรับตัว เพราะธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพฯ เริ่ม “เฟ้อ” ร้านเปิดใหม่เพียบ หลายย่านสำคัญเริ่มแข่งกันมากขึ้น แข่งกันทั้งราคา ทำเล และอื่นๆ
ดังนั้นอาจต้องเพิ่มเสน่ห์และสร้างแม็กเนตให้บรรทัดทอง เช่น นอกจากมีร้านอาหาร ก็อาจจะมีสัดส่วนที่ปรับเพิ่มร้านค้าที่จะดึงกลุ่มช้อปปิ้งเข้ามาได้ ทำให้ย่านบรรทัดทองมีอะไรนอกจากแค่กิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคคนไทยใช้เวลากับถนนได้ระยะยาว
ทางรอดของบรรทัดทองจึงไม่ใช่แค่ “ไม่ปิด” แต่ต้องทำให้ย่านนี้มีความคึกคักทั้งกลางวันและยามค่ำคืน เช่น ขยายเวลาเปิดร้าน จัดกิจกรรมกลางคืน มีอีเวนต์ในย่านสร้างแรงดึงดูด เพิ่มจุดจอดรถบัสนักท่องเที่ยว หรือโปรโมตร้านอาหารที่เปิดดึกให้มากขึ้น เพื่อทำให้บรรทัดทองกลายเป็นไนท์ไลฟ์สำหรับสายกินอย่างแท้จริง
เฮียนพ สรุปทิ้งท้ายว่า แม้สถานการณ์ตอนนี้บรรทัดทองอาจดูเงียบ แต่ยังไม่ตาย สิ่งที่ต้องทำคือเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา ปรับตัวกับเศรษฐกิจที่ผันผวน และเปิดรับกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ อย่างยืดหยุ่น หากทำได้ บรรทัดทองก็ยังสามารถเป็นคอมมูนิตี้อาหารที่มีชีวิตชีวาอยู่ในใจคนไทยและนักท่องเที่ยวได้อีกนาน