โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

อดีตสว.คำนูณ ผ่ารหัส ‘144-88’ ล้างบางนักการเมือง!

ไทยโพสต์

อัพเดต 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.15 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

อดีต สว.คำนูณ สิทธิสมาน วิเคราะห์ลึก “มาตรา 144-88” เปิดช่องไต่สวนใช้งบมิชอบ ลั่นโทษร้ายแรงถึงขั้นพ้นตำแหน่งทั้งครม. แถมอาจได้เห็น “ปลัดกระทรวง” นั่งแทนนายกฯ

22 กรกฎาคม 2568 - นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา(อดีตสว.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “144-88 รหัสล้างบางนักการเมือง” มีเนื้อหาดังนี้

บทเพลง 144 เริ่มบรรเลงแล้ว แม้ในช่วงโหมโรงนี้ท่วงทำนองจะเริ่มต้นแบบเนิบ ๆ แต่ความดุดันกระแทกกระทั้นและเหนือความคาดหมายยากคาดเดากำลังจะตามมา…

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องกล่าวหาว่ารองประธานสภาผู้แทนราษฎรกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสอง (มีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย) ไว้พิจารณา และจะต้องมีคำวินิจฉัยภายใน 15 วัน ศาลรัฐธรรมนูญจึงกำหนดกระบวนการพิจารณาด่วนตลอดสัปดาห์นี้ 21, 23, 24 กรกฎาคม 2568 เรื่องนี้สส.พรรคประชาชนเข้าชื่อกันยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 144 วรรคสาม

มาตรา 144 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า…

“ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้“

เป็น 1 ใน 2 ฐานความผิดของมาตรา 144

ขอขีดเส้นใต้ตรงประโยคแรกที่ว่า “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ…“ ซึ่งเป็นบทกำกับประโยคต่อ ๆ ไปในวรรค

ทั้งนี้ ก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานเบื้องต้นไว้ว่าการกระทำความผิดตามฐานนี้จะต้องเกิดขึ้นในชั้นพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นแม้คณะผู้ร้องจะร้องมาว่ามีการกระทำความผิดทั้งในช่วงการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ที่อยู่ในชั้นการพิจารณา แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับไว้พิจารณาเฉพาะการกระทำผิดในส่วนของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 เท่านั้น

อันที่จริง ผมยังไม่สู้เห็นด้วยกับประเด็นนี้นัก

การกระทำความผิดต้องเกิดขึ้นในชั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ อันนี้ชัดเจน เห็นด้วยเต็มร้อย แต่การร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานี่สิ จำเป็นจะต้องอยู่ในช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯด้วยหรือ ?

ถ้าอย่างนั้น บทบัญญัติเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยที่อยู่ท้ายมาตรา 144 วรรคสามนี้เอง และกำหนดอายุความไว้ 20 ปีตามมาตรา 144 วรรคห้า จะมีที่ใช้ที่ไหนสำหรับกรณีสส.หรือสว.ร้องมาตามช่องทางมาตรา 144 วรรคสาม เพราะหากจะร้องได้เฉพาะช่วงที่พระราชบัญญัติฯยังไม่มีผลใช้บังคับเท่านั้น ก็หมายความว่ายังไม่มีการใช้เงินงบประมาณ

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไปแล้ว - ก็ - ตามนั้น

ส่วนอีกฐานความผิดหนึ่งอยู่ในมาตรา 144 วรรคหนึ่ง

“ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ … สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย“

มีประโยคขึ้นต้นว่า “ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ…“ คล้าย ๆ ประโยคขึ้นต้นของวรรคสองเหมือนกัน

ขอหมายเหตุเป็นข้อสังเกตตรงนี้ไว้สักนิดว่า ทั้ง 2 ฐานความผิดนี้บัญญัติเป็นบทต้องห้ามอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ทว่ามีเพียงแต่บทให้สส.หรือสว.เข้าชื่อเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาได้เฉพาะการกระทำตามมาตรา 144 วรรคสอง (มีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย) เท่านั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 7 วัน อันแสดงให้เห็นว่าน่าจะมีเจตนารมณ์ให้ผลการวินิจฉัยเสร็จสิ้นก่อนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายมีผลใช้บังคับ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดก็มีผลให้การกระทำนั้น ๆ สิ้นผลไป ไม่ได้มีบทลงโทษรุนแรงพร้อมทั้งให้เรียกเงินคืนบวกดอกเบี้ยที่เพิ่งเขียนเพิ่มเติมเข้ามาในครึ่งหลังของมาตรา 144 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ 2560 แถมยังเพิ่มเติมวรรคห้ากำหนดอายุความเรียกเงินคืน 20 ปีเข้ามาอีก ซึ่งน่าจะเป็นอีกเจตนารมณ์หนึ่ง เพราะการเขียนไว้เช่นนี้ย่อมพิจารณาได้ว่าสามารถยื่นร้องได้หลังพระราขบัญญัติงบประมาณมีผลบังคับใช้แล้วด้วย จึงได้มีการใช้จ่ายงบประมาณนั้น ๆ ออกไป การต่อเชื่อมบทบัญญัติเก่ากับใหม่ที่มีเจตนารมณ์ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการตีความเพื่อบังคับใช้ได้ ขอฝากไว้โดยย่อเท่านี้ก่อน

การเสนอเรื่องการกระทำผิดตามมาตรา 144 สู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ทางจากบุคคล 2 ประเภท

ทางที่ 1 มาตรา 144 วรรคสาม - จากสส.หรือสว.

“ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา…ฯลฯ…“

เน้นตรงคำว่า “…บทบัญญัติตามวรรคสอง” !

จะเห็นได้ว่าสส.หรือสว.ยื่นร้องได้เฉพาะความผิดตามมาตรา 144 วรรคสอง (มีส่วนใช้งบประมาณรายจ่าย) เท่านั้น วรรคหนึ่ง (แปรญัตติตัดงบใช้หนี้) ยื่นร้องไม่ได้

เป็นบทบัญญัติที่แปลก ทำไมไปจำกัดเช่นนั้น ?.

ทางที่ 2 มาตรา 144 วรรคสี่และวรรคหก - จากเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่าย (และรวมถึงประชาชนทั่วไป ?)

“เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทราบ ให้พ้นจากความรับผิด” - วรรคสี่

“ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม…” - วรรคหก

จากบทบัญญัติในทั้ง 2 วรรค จะเห็นได้ว่ามีประเด็นต้องพิจารณาอยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง

เรื่องหนึ่ง การแจ้งต่อป.ป.ช.ของเจ้าหน้าที่ฯทำได้ทั้ง 2 ฐานความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เรื่องนี้ไม่มีข้อสงสัย เพราะตัวบทบัญญัติไว้ชัดเจน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้ประเด็นอื่น ก็คือประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ จะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.ได้หรือไม่ ?

เพราะหากอ่านเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่และวรรคหก จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐฯเท่านั้น ไม่มีบุคคลประเภทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

คำตอบของประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในแค่มาตรา 144 แต่ต้องมีมาตรา 88 ด้วย

ไม่ใช่รัฐธรรมนูญมาตรา 88

หากแต่เป็นมาตรา 88 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561

เรามาดูตัวบทกัน…

“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการป.ป.ช. หรือเมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่ ให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน…“

คีย์เวิร์ดอยู่ที่ประโยคขึ้นต้นเลย

“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการป.ป.ช….“

เป็นประโยคที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่หรือวรรคใด ๆ

ประโยคเดียว - จบข่าว!

คดีตามมาตรา 144 ที่ตกเป็นข่าวดังมากกว่าและสร้างความตื่นตะลึงมากกว่าคดีที่ศาลรัฐธรรมเพิ่งรับไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2568 เพราะจากการแถลงข่าวของคณะผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวพันกับทั้งสส., กรรมาธิการของสส., สว. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งครม. การใช้ช่องทางร้องผ่านป.ป.ช.ตามมาตรา 144 วรรคสี่จึงไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะยื่นเมื่อใด ก็ต้องถือว่า “ความปรากฎต่อคณะกรรมการป.ป.ช.” ตามมาตรา 88 แล้วเมื่อนั้น ต้องดำเนินการต่อทีนที

หากป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูล เมื่อยื่นต่อมายังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีก็จะเข้ามาตรา 144 วรรคหกที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 144 วรรคสาม ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ยื่นมานั้นเกิดขึ้นในช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย หรือในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นมีผลบังคับใช้แล้ว

ก็เพราะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 88 รองรับและขยายความรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 ไว้อย่างนี้นี่เองผมจึงตั้งชื่อหัวเรื่องพูดคุยวันนี้ว่า…

“144 - 88 รหัสล้างบางนักการเมือง”

คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

ฐานความผิดตามมาตรา 144 มีขอบเขตกว้างขวางมาก โดยเฉพาะคำว่า “การกระทำด้วยประการใด ๆ … ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ในวรรคสอง

โทษของความผิดก็ร้ายแรงมาก โดยบัญญัติไว้ในวรรคสาม สำหรับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นสส.หรือสว.ให้ “…สิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย” และ “เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” และถ้าเป็นกรณีคณะรัฐมนตรีก็ให้ “พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย” ยกเว้นรัฐมนตรีคนที่พิสูจน์ได้ว่าไม่อยู่ในที่ประชุมในขณะกระทำความผิด และทั้ง 2 กรณีจะต้องใช้เงินคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย มีอายุความ 20 ปี

ในกรณีคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะเหตุนี้ มาตรา 168 (2) บัญญัติว่าจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้

นี่ยังไม่นับโทษทางอาญาที่จะตามมาอีก !

เราจึงอาจจะได้เห็นปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และปลัดกระทรวงประชุมกันคัดเลือกกันเองให้ปลัดกระทรวงคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคสองที่ยังไม่เคยใช้เหมือนกัน

สมมติฐานนี้ไม่ได้ห่างไกลความจริงนัก

และอาจจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมาให้เห็นอีก

.

จะมากจะน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ.

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยโพสต์

ไม่มีเหนียม! ‘ทักษิณ’ มาคุยเรื่องการเมือง วงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล

58 นาทีที่แล้ว

‘วัดเทพวนาราม’ จัดพิธีใหญ่ มอบพัดยศพระสงฆ์ใต้ 173 รูป

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ภูมิใจไทยจ่อหารือฝ่ายค้าน เปิดซักฟอกไม่ลงมติปมภาษีทรัมป์!

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

‘เพื่อไทย’ เสนอชื่อ ‘ฉลาด ขามช่วง’ นั่งรองประธานสภาฯ คนที่ 2

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

"ทักษิณ"ปาฐกถาดินเนอร์พรรคร่วมฯ บอกรู้สึกหนุ่มเหมือนตอนอายุ 25 ปี

ข่าวเวิร์คพอยท์ 23

“ทักษิณ” ยัน เสียงปริ่มน้ำบริหารได้ ย้ำ รบ.หน้าจับมือกันเหมือนเดิม บอก ได้นายกฯอิ๊งค์แถมพ่อเป็นที่ปรึกษา ลั่น พ้นบ่วงพร้อมไปทุกจังหวัด

สยามรัฐ

ทักษิณ โชว์วิชั่นพรรคร่วม ยกประสบการณ์ 51 ปี เชื่อหลังผ่านพ้นปัญหารัฐบาลเข้มแข็งขึ้น

ประชาชาติธุรกิจ

‘ทักษิณ’ ประกาศ กลางวง พรรคร่วมฯ ‘เลือกตั้ง’ แล้ว จับมือกันต่อ

กรุงเทพธุรกิจ

‘อิ๊งค์’ปลุกพรรคร่วมรัฐบาลมั่นใจเสถียรภาพ เชื่อได้กลับมาทำงานอีก

เดลินิวส์

TMAC แจงจุดทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิด เก็บกู้หมดตั้งแต่ปี 63-65 ไม่พบทุ่น PMN-2

สยามรัฐ

ข่าวและบทความยอดนิยม