รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๗
Hello Magazine Thailand
อัพเดต 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 18 ชั่วโมงที่ผ่านมา • HELLO! Magazine Thailandศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๗ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ และรักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ, ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และรักษาการคณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาและกลั่นกรองมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ และผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จ
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร และประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวประกาศสดุดีเกียรติคุณและกราบทูลเบิกผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๗ ซึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เดนนิส เจ. สเลมอน (Dennis J. Slamon, MD) อายุรแพทย์โรคมะเร็งชาวอเมริกัน เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระดำรัสเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ ๒ เรื่อง “Thailand against Cancer as One” และทรงรับฟังการแสดงปาฐกถาพิเศษของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เดนนิส สเลมอน เรื่อง “Identification & Validation of Novel Targets in Oncology: From HER2 to the CDK–4/6 Kinases. Biologic and Therapeutic Implication”
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เดนนิส เจ. สเลมอน (Dennis J. Slamon, MD) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๗ ซึ่งนับเป็นท่านที่สองตั้งแต่มีการจัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฯ ขึ้นมา ท่านเป็นอายุรแพทย์โรคมะเร็งชาวอเมริกัน ซึ่งมีผลงานด้านมะเร็งวิทยาเป็นที่ประจักษ์ โดยท่านเป็นผู้ค้นพบยีน Human Epidermal Growth Factor Receptor 2 (HER2) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาชีววัตถุ ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ซึ่งเป็นยารักษาแบบโมเลกุลมุ่งเป้าที่ปฏิวัติวงการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมชนิด HER2-positive ทำให้ช่วยชีวิตผู้หญิงนับล้านคนทั่วโลก การค้นพบของท่านนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการแพทย์แบบเฉพาะบุคคล และ การแพทย์แม่นยำ ปัจจุบัน ในวัย ๗๗ ปี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เดนนิส เจ. สเลมอน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทางคลินิกและการถ่ายทอดจากห้องปฏิบัติการ ตลอดจนเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัยมะเร็งสตรี Revlon/UCLA ที่ศูนย์มะเร็ง Jonsson Comprehensive Cancer Center รวมถึงดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์ หัวหน้าภาควิชาโลหิตวิทยา/มะเร็งวิทยา และรองคณบดีฝ่ายวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอเนียร์ เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา (The University of California, Los Angeles, USA)
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการแพทย์ของ National Colorectal Cancer Research Alliance โดยท่านยังคงทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของยาและค้นหาตัวยาใหม่เพื่อรักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ เดนนิส เจ. สเลมอน นับเป็นผู้บุกเบิกการรักษามะเร็งโดยใช้ชีววัตถุ การค้นพบยา Trastuzumab เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด HER2-positive นับถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งนับล้านคนทั่วโลกได้รับประโยชน์และรอดชีวิตจากการรักษาด้วยยาที่ท่านค้นพบ นับว่าท่านได้ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ
อนึ่ง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ Princess Chulabhorn Award” เป็นรางวัลระดับนานาชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็ง และการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อเป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ เปิดบริการแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความเจริญก้าวหน้าและมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทรงอุทิศพระวรกายในการปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการเพื่อการพัฒนาค้นคว้าวิจัย พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้และยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาประเทศ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงเห็นควรเสนอจัดให้มีรางวัลระดับนานาชาติขึ้นเพื่อพิจารณาให้แก่ผู้มีผลงานดีเด่น เป็นที่ประจักษ์ด้านการป้องกัน ควบคุม และหรือการดูแลรักษาโรคมะเร็ง อันก่อให้เกิดผลดีและเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ โดยมีการกำหนดขอบเขตของรางวัล ขั้นตอน วิธีการ และแนวปฏิบัติในการพิจารณาให้รางวัล และเพื่อให้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (Princess Chulabhorn Award) สามารถดำเนินการได้อย่างถาวรมีความมั่นคงและเป็นระบบในระยะยาว สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์(Princess Chulabhorn Award Foundation) ขึ้นเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการมูลนิธิภายใต้การสนับสนุนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการรวม ๓๐ ท่าน ทั้งนี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ ฯ จะดำเนินการคัดเลือกและประกาศผลผู้ได้รับรางวัล ฯ เป็นประจำทุกปี จำนวน ๑ รางวัล ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ โดยมีกำหนดการเข้ารับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรตินี้ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี
พร้อมกันนี้ เพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งในประเทศไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ ฯ จึงได้จัดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ ๒ ขึ้นต่อเนื่องในวันศุกร์ ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ บอลรูม A โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในด้านการป้องกัน ควบคุม และการดูแลรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย จากหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ ซึ่งสำหรับในปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ เดนนิส เจ. สเลมอนผู้ได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ประจำปี ๒๕๖๗ และปัญหามะเร็งของประเทศไทย ดังนั้น เนื้อหาการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ครั้งที่ ๒ นี้ จึงให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ATMP Advanced Therapeutic Medicinal Products รวมทั้งอัปเดตนวัตกรรมการรักษามะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ครอบคลุมทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา ยา ตลอดจนการคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านมะเร็งได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบาย สถานการณ์ และการดำเนินงานเกี่ยวกับมะเร็งของหน่วยงานในระดับต่าง ๆ ของประเทศไทย
ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและผู้ทำงานด้านมะเร็ง อันจะก่อให้เกิดพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานระดับนโยบาย สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และสถานบริการสุขภาพในทุกระดับในการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศไทยให้ไปในทิศทางเดียวกันต่อไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านมะเร็ง อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกัน ควบคุม และรักษาดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และยกระดับสุขภาพคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ตามพระปณิธานขององค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ ต่อไป
อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ Hello!
- “K by Vicky Cheng” ชวนลิ้มรสอาหารจีนสมัยใหม่ ผลงานชิ้นเอกจากฝีมือเชฟระดับโลก
- รีวิว Hotel Union Geiranger สถานที่จัดงานแต่งของ เจ้าหญิงมาร์ธา หลุยส์ แห่งนอร์เวย์ และคนทรงดูเรก แวร์เรตต์
- อบอุ่นเหมือนแม่ทำให้กิน ที่ร้าน Tina’s จากรสชาติดั้งเดิมของนิวออร์ลีนส์และลุยเซียนา
- TOP 5 Boarding School in Melbourne ส่งลูกเรียนต่อออสเตรเลีย เมืองเมลเบิร์น เรียนต่อที่ไหนดี
- คุณแม่นักบริหาร: คุณแวว-ธีรวัลคุ์ เผยเคล็ดลับการเลี้ยงลูกและการทำงาน
- เผยโฉม เจเลนา ภรรยาของโนวัค ยอโควิช ในชุดเชียร์งามสง่าจากเดรสอเล็กซานเดอร์ แม็คควีน หญิงสาวที่มาพร้อมความสวยและสไตล์
- 7 เทคนิค เตรียมพิชิตทุนฟุลไบรท์
- วิเวียน กง นางฟ้าโอลิมปิกคนใหม่ สวย ฉลาด เก่ง กับประวัติการศึกษาระดับปริญญาเอก
- ณศิษฏ์ วันขวัญ “Alexandul” ช่างผมปารีส ฮิลตัน กับเส้นทางสู่สุดยอด Celebrity Hairstylist แนวหน้าของเมืองไทย
- รู้จักทุนเรียนต่อเยอรมันจากมหาวิทยาลัย University of Freiburg ที่สายนักวิจัยต้องไม่พลาด
- เรียนต่อโปรตุเกสมาแรง 10 เหตุผลที่พ่อแม่ควรสนับสนุนลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ ในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
- Cento Bangkok ร้านอาหารอิตาเลียนนิยามใหม่ในคอนเซ็ปต์ ‘Hospitality House’
- ไอแซค – ชินดนัย อัครวงศ์วริศ ทายาทธุรกิจอุตสาหกรรมพลาสติกและโรงแรมกับความสามารถรอบด้านทั้งพูดและเขียนได้ 4 ภาษาพร้อมเล่นดนตรีได้หลากหลาย
- ส่องประวัติการศึกษา Gustav Magnar Witzøe นายแบบสุดฮอตจาก Met Gala ดีกรีมหาเศรษฐีนอร์เวย์ หล่อ รวย ใจบุญ ครบเครื่อง!
- ศิววงศ์ วงษ์โสพนากุล คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านการเงิน BBA ธรรมศาสตร์ กับชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ University of California at Berkeley
- 10 ประโยชน์ของการฝึกสติและการทำสมาธิสำหรับเด็ก
- 7 ข้อดี ทำไมต้องเรียนต่อที่อเมริกา
- คุยกับมนพร ไกรฤกษ์ ทายาทรุ่นที่ 4 กับการทำงานร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์
- ณัทรดี นฤปเวศม์ ลูกไม้ที่หล่นใกล้ต้น ทายาท นพ.ณัทธร นฤปเวศม์ แห่ง The Skin Clinic
- New Zealand VS Australia เลือกเรียนต่อที่ไหนดี
- อัปเดตชีวิตลูกทั้ง 4 ของครอบครัว Beckham และวิธีการเลี้ยงลูกให้รู้จัก “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” (บทความที่ 1)
- โรงเรียนนานาชาติ DBS โรงเรียนในฝันของเจนเนอร์เรชั่นใหม่ (th-hellomagazine.com)
- ตามรอย โรงเรียนนานาชาติ ของลูกคนดัง เขาเรียนที่ไหนกันบ้าง? (th-hellomagazine.com)
- ย้อนประวัติการศึกษา เอ็มมา สโตน นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเวทีออสการ์ 2024
- อัปเดต 10 ประเทศยอดนิยมในการศึกษาต่อต่างประเทศ อิตาลี อังกฤษ