เนสท์เล่ ฟื้นฟูคลองขนมจีน 10 ปี จากน้ำเน่า สู่ต้นแบบ OECMs ระบบนิเวศระดับชาติ
เมื่อย้อนกลับไปกว่าทศวรรษที่ผ่านมา "คลองขนมจีน" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เคยเป็นเพียงเส้นทางน้ำที่ถูกลืม สภาพคลองเสื่อมโทรมอย่างหนัก กลายเป็นจุดทิ้งขยะและน้ำเสียจากชุมชนจนแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่ ความทรุดโทรมของสายน้ำที่เคยเป็นหัวใจของวิถีชีวิตท้องถิ่น สะท้อนถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและเรื้อรัง
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เข้าดำเนินโครงการ “เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ” เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำและระบบนิเวศในคลองแห่งนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี จนเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพน้ำที่กลับคืนสู่ชุมชน
ความสำเร็จของโครงการดังกล่าวยังนำไปสู่การได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้คลองขนมจีนเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของประเทศไทย ภายใต้กรอบการอนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง หรือ OECMs (Other Effective area-based Conservation Measures)
OECMs ถือเป็นแนวทางอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือจากเขตป่าอนุรักษ์หรือเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าแบบดั้งเดิม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก 30x30 คือการอนุรักษ์พื้นที่บนบกและในทะเลอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030
ปัจจัยได้เลือกสู่ OECMs
"ไชยงค์ สกุลบริรักษ์" ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า หลักเกณฑ์ที่ทำให้โครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ ได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการดำเนินงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) มีปัจจัยหลักๆ 3 ประการ ได้แก่ ความหลากหลายทางชีวภาพ มีวิธีการจัดการอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมและความเห็นชอบของคนในพื้นที่
“หลังจากที่ได้ทำโครงการ เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำนี้มา 10 ปี เราสามารถบอกได้ว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของคลองขนมจีนมาโดยตลอด ความสำเร็จที่เราพบคือการเห็นความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้น เช่น การพบพันธุ์ปลาท้องถิ่นหายาก นกหลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งแมลงปอและหิ่งห้อยที่มีมากขึ้น และชาวบ้านสามารถปลูกพืชน้ำและเลี้ยงสัตว์น้ำได้ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพและบ่งบอกว่าน้ำในคลองมีคุณภาพที่ดี”
ความสำเร็จนี้สะท้อนถึงก้าวแรกของการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์หลักของเนสท์เล่ในการขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เพื่อผู้บริโภค (Good for You) และเพื่อโลกของเรา (Good for the Planet) โดยมุ่งสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero 2050)
ดูแลแหล่งน้ำใน 3 มิติ
“ไชยงค์” เล่าย้อนให้ฟังว่า โครงการ “เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ” เริ่มต้นในปี 2558 ภายใต้แบรนด์ เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ โดยมุ่งส่งเสริมการดูแลแหล่งน้ำใน 3 มิติหลัก ได้แก่ การเรียนรู้ การปกป้อง และการฟื้นฟู ซึ่งได้ขยายบทบาทและกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
- 1. การเรียนรู้ – ถ่ายทอดความรู้เรื่องการอนุรักษ์น้ำ
เนสท์เล่ริเริ่มโครงการ “เยาวชนพิทักษ์สายน้ำ” เพื่อส่งเสริมความรู้ในกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะในโรงเรียนสาคลีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์น้ำตั้งแต่ปี 2561 และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ได้มีการปรับปรุงศูนย์ฯ เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
- 2. การปกป้อง – ลดปริมาณขยะในแหล่งน้ำ
ผ่านกิจกรรม “ตลาดนัดขยะชุมชน” ที่ร่วมมือกับบริษัทวงษ์พาณิชย์ ส่งเสริมการแยกขยะอย่างถูกวิธี และสามารถรีไซเคิลขยะได้กว่า 16 ตัน ล่าสุดได้เปิด “ธนาคารขยะ” ที่โรงเรียนสาคลีวิทยา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชน พร้อมสร้างรายได้เสริมให้กับนักเรียนและครอบครัว
- 3. การฟื้นฟู – คืนความหลากหลายให้ระบบนิเวศ
เนสท์เล่จัดกิจกรรม “รักษ์น้ำ คืนปลาสู่คลองขนมจีน” และจัดทำบ่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาหายาก เช่น ปลากระทิง ปลาหลด ปลาแดง และปลาหมู พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชน้ำ เช่น กระจับ แพงพวยน้ำ บัวสาย และเตยหอม โดยในปีนี้ ได้ปล่อย ลูกกุ้งก้ามกรามจำนวน 100,000 ตัว ลงสู่คลองขนมจีน เพื่อสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ
ดัชนีวัดความสำเร็จระยะยาว
สำหรับเกณฑ์วัดผลสำคัญในการวัดผลพื้นที่นำร่อง OECMs “ไชยงค์” อธิบายว่า ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่
- คุณภาพน้ำในคลองขนมจีนจะต้องคงความใส สะอาด อย่างต่อเนื่อง
- ความหลากหลายทางชีวภาพจะต้องยังคงมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์นานาชนิด ทั้งสัตว์น้ำ แมลง และนก รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพของพืชน้ำ
- การมีส่วนของชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องมีส่วนร่วมอยู่ในโครงการนี้ และให้ความเห็นชอบกับการดำเนินโครงการของเนสท์เล่
ความท้าทาย - สร้างความไว้วางใจ
"สลิลลา สีหพันธุ์" ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทีมงานต้องเผชิญ คือ การสร้างความไว้วางใจจากชุมชน ในระยะแรก ชาวบ้านในพื้นที่ยังมีความลังเลและไม่มั่นใจในเจตนารมณ์ของโครงการ โดยมองว่า “เนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ” อาจเป็นเพียงกิจกรรมชั่วคราว ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาระยะยาว
“ตอนเริ่มต้น ชาวบ้านบางส่วนยังไม่เชื่อว่าเราจะอยู่กับเขาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่เราพิสูจน์ด้วยการลงมือทำจริง และยืนหยัดเคียงข้างชุมชนมาตลอด 10 ปีเต็ม”
เนสท์เล่เลือกใช้แนวทาง “การลงมือทำ” ควบคู่กับ “การมีส่วนร่วมของชุมชน” โดยไม่เพียงแค่จัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจและร่วมดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน
การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนค่อยๆ เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจของทีมงาน จนสามารถสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งในด้านคุณภาพแหล่งน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน
“ความไว้วางใจจากชุมชนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในวันเดียว แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง”
บทบาทของชาวบ้านต่อความยั่งยืนคลองขนมจีน
ชาวบ้านในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมที่โครงการให้ความรู้ หรือการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การปลูกพืชน้ำอย่างกระจับ แพงพวยน้ำ บัวสาย และกระเฉด ที่สามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เสริม
นอกจากนี้ โครงการยังมีการจัดทำบ่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นที่หายาก อาทิ ปลากระทิง ปลาหลด ปลาแดง และปลาหมู เพื่อช่วยฟื้นคืนระบบนิเวศน้ำให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การนำผักตบชวาจากแหล่งน้ำมาตากแห้งและถักเป็นกระเป๋า เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
“สิ่งที่เราเห็นชัดคือ ไม่เพียงแค่ธรรมชาติที่ฟื้นคืน แต่ชุมชนเองก็พัฒนาไปพร้อมกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในวิถีชีวิตของผู้คนรอบคลองขนมจีน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของโครงการนี้” สลิลลา กล่าว
บทเรียนสำคัญของเนสท์เล่
“สลิลลา” กล่าวด้วยว่า บทเรียนสำคัญที่เนสท์เล่ได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ คือ การที่เนสท์เล่ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มโครงการ ทั้งการรับฟังและรับรู้ถึงปัญหา และแนวทางในการแก้ปัญหาจากชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมการในการลงมือทำไปพร้อมกับเนสท์เล่ ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่จะสามารถนำมาปรับใช้กับโครงการอื่นๆ ของเนสท์เล่ได้เช่นเดียวกัน
“เราก็ได้มีการทำโครงการในลักษณะคล้ายๆ กัน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำอีกแห่งของเรา โดยโครงการนี้ก็เรียกว่าเป็นโครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ เช่นกัน แต่ว่าทำอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีชื่อว่า หนองทุ่งทอง โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี และชุมชนรอบหนองทุ่งทอง”
เชื่อมโยงนโยบายกับพื้นที่จริง
หนึ่งในความโดดเด่นของการพัฒนา OECMs ที่คลองขนมจีน คือการเป็นตัวอย่างเชิงรูปธรรมของการเชื่อมโยงนโยบายระดับประเทศกับพื้นที่ชุมชน โดยอาศัยกลไกความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาควิชาการ เช่น กรมประมง กรมชลประทาน WWF ประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และภาคธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนทั้งทางวิชาการและปฏิบัติการ
การยกระดับพื้นที่ชุมชนให้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้แนวคิด OECMs ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตาในบริบทของไทย โดยเฉพาะเมื่อแนวทางนี้เน้น “การจัดการจากพื้นที่” แทน “การควบคุมจากภายนอก” และเน้นผลลัพธ์ที่วัดได้จากความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จริง ไม่ใช่แค่ตัวเลข
คลองขนมจีนอาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายพื้นที่ที่ถูกเสนอเป็น OECMs แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นที่นี่อาจเป็นแนวทางสำหรับการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนในบริบทของไทย ที่ต้องการมากกว่า “น้ำ” แต่คือ “การมีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ”