เมื่อมังกรทะยานฟ้า (จบ)
โดรนไร้คนขับอีกแบบที่ผมอยากนำเสนอก็ได้แก่ โดรนขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ อาทิ รุ่น SA750U ที่ผ่านการทดสอบครั้งแรกด้วยการขนส่งสินค้า 700 กิโลกรัม เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 และต่อมาก็มีกระแสข่าวการเปิดตัวและทดสอบโดรนรูปแบบคล้านคลึงรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิตโดรนจากทั่วจีน อาทิ มณฑลหูหนาน และ เสฉวน ที่อยู่ในพื้นที่ตอนกลางและด้านซีกตะวันตกของจีน ตามลำดับ
โดรนเหล่านี้สร้างความฮือฮาด้วยคุณสมบัติพิเศษเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะในการขนส่งและระยะเวลาการบินที่เพิ่มขึ้น และความสามารถขึ้นลงในสถานที่ที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินทั่วไปได้ อาทิ พื้นที่บนดาดฟ้าในชุมชนเมือง
ที่น่าสนใจก็คือ โดรนขนส่งเหล่านี้ ได้เริ่มส่งมอบในเชิงพาณิชย์แก่บริษัทลอจิสติกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง SF Express แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยถูกนำไปใช้ในการขนส่งผลไม้จากไฮ่หนาน (เกาะไหหลำ) ไปยังมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เข้าถึงด้วยความยากลำบาก
นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 จีนยังประกาศศักดาด้วยการเปิดตัวโดรนขนส่งสินค้ารุ่น W5000 ในงาน China International Aviation and Aerospace Exhibition หรือที่เรียกกันติดปากว่า “จูไห่แอร์โชว์” (Zhuhai Airshow) ครั้งที่ 15 ซึ่งถือเป็นงานนิทรรศการด้านการบินและอวกาศชั้นนำของจีนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2024 ในมณฑลกวางตุ้ง ด้านซีกตะวันออกของจีน
โดรนรุ่นนี้ผลิตขึ้นที่โรงงานในเมืองฉางโจว (Changzhou) มณฑลเจียงซู ทางตอนเหนือของมหานครเซี่ยงไฮ้ โดย Air White Whale Company สามารถขนส่งสินค้าได้ถึง 5 ตัน และการยกตัวในน้ำหนักสูงสุดถึง 10.8 ตัน จึงจัดเป็นโดรนขนส่งสินค้าไร้คนขับที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แถมยังมาพร้อมกับความสามารถพิเศษมากมาย อาทิ การบินด้วยความเร็วกว่า 525 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และระยะทางการบินถึง 2,600 กิโลเมตร
ขณะเดียวกัน ระบบการควบคุมภาคพื้นดินสำหรับ W5000 ก็ถูกออกแบบขึ้นอย่างล้ำสมัย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถติดตามโดรนได้ถึง 5 ลำในเวลาเดียวกัน
โดรนรุ่นนี้คาดว่า จะได้รับใบอนุญาตและส่งมอบในเชิงพาณิชย์ได้ภายในครึ่งหลังของปี 2026 แต่เห็นว่า หลังการเปิดตัว บริษัทผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อจากธุรกิจลอจิสติกส์ของจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก อาทิ China Post การไปรษณีย์จีน China Eastern Airlines Logistics กิจการลอจิสติกส์ของสายการบินไชน่าอีสเทิร์น และJD.com ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ ซึ่งคาดว่าจะใช้โดรนรุ่นนี้เปิดให้บริการขนส่งเชิงพาณิชย์ในอนาคต
กระแสข่าวยังเปิดเผยว่า กองทัพอากาศจีนก็กำลังให้ความสนใจในการนำเอา W5000 ไปประยุกต์ใช้ในปฏิบัติการทางการทหารอีกด้วยในอนาคต
ภายหลังเผยโฉมในงานจูไห่แอร์โชว์ เมื่อปี 2024 “Lanying R6000” ก็กลายเป็นโดรนไร้คนขับที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก โดรนรุ่นนี้ผลิตขึ้นโดย The United Aircraft ที่มีน้ำหนักราว 6 ตัน และมีใบพัดแบบเอียง ซึ่งช่วยให้การขึ้นลงและการเร่งความเร็วทำได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลในเว็บไซต์ของ United Aircraft ที่ก่อตั้งขึ้นที่นครเซินเจิ้นเมื่อปี 2014 ระบุว่า โดรนรุ่นนี้มีพิสัยการบินสูงสุด 4,000 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 550 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว และมีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 2,000 กิโลกรัม ทำให้สามารถขนส่งผู้โดยสารถึง 12 คนในคราวเดียวกัน ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับการจราจรทางอากาศในชุมชนเมือง ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Car in the Sky”
โดรนรุ่นนี้ยังอาจนำไปใช้ในการขนส่งสินค้า และการกู้ภัยฉุกเฉิน รวมทั้งด้านความมั่นคง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนของภาครัฐในมูลค่าราว 1,850 ล้านหยวน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพด้านการขนส่ง การเฝ้าระวัง การลาดตระเวน และการโจมตีทางการทหาร
นอกจากหลากหลายตัวอย่างโดรนที่นำเสนอมา จีนยังสร้างชื่อเสียงจากการใช้โดรนในบริการเชิงการตลาด และต่อยอดเป็นกิจกรรมอื่น อาทิ การทำแผนที่และภาพ 3 มิติทางอากาศได้อย่างมีสีสัน โดยล่าสุดได้สร้างสถิติโลกแห่งสถาบันกินเนสส์ (Guinness World Record) ด้วยการใช้โดรนไร้คนขับในการแสดงแสงสีเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยเมื่อปลายเดือนเมษายน 2025 Damoda กิจการจีนได้จัดแสดงโดรนพร้อมกันถึง 10,518 ตัวในโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City) เมืองหลวงทางเศรษฐกิจทางตอนใต้ของเวียตนาม
ขณะเดียวกัน ในงาน Drone Congress 2025 ครั้งที่ 9 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีกิจการโดรนกว่า 820 ราย และจัดแสดงโดรนมากกว่า 5,000 รุ่น จีนยังแสดงให้เห็นถึงพลังในการ “ต่อยอด” โดรนไร้คนขับสู่ยุคใหม่ด้วยปัญญาประดิษฐ์พลัส (AI+) โดยเปลี่ยนจาก “อุปกรณ์ควบคุมระยะไกล” เป็น “ระบบควบคุมอัตโนมัติ” ซึ่งโดรนเหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าเยี่ยมชมงาน
จะเห็นได้ว่า ผลจากการผ่อนคลายกฎหมายกฎระเบียบด้านการบิน และการส่งเสริมการผลิตโดรนของรัฐบาลจีนโดยลำดับ ทำให้ผู้ผลิตจีนพัฒนา “โดรนล้ำสมัย” ออกมามากมาย ส่งผลให้อุตสาหกรรมโดรนในจีนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญในวงการประเมินว่า เศรษฐกิจระดับความสูงต่ำ (Low-Altitude Economy) ของจีน คาดว่าจะมีมูลค่าแตะระดับ 2 ล้านล้านหยวนภายในปี 2030 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็เท่ากับว่าอุตสาหกรรมนี้ขยายตัวถึง 4 เท่าตัว จากปี 2023 และทําให้จีนก้าวขึ้นเป็น “ผู้นําระดับโลก” ที่โดดเด่น ทั้งในด้านการผลิต และนวัตกรรมโดรนสําหรับผู้บริโภคและเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน
มองออกไปในอนาคต ผมเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนจะเดินหน้าผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการใช้โดรนต่อไป อาทิ การควบคุมน่านฟ้าที่เข้มงวดขึ้นในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดบริการขนส่งคนและสินค้าที่สะดวกคล่องตัว ช่วยหลีกเลี่ยงและลดปัญหาการจราจรทางถนน และช่วยลดมลพิษทางอากาศและเสียง เสริมสร้างความเป็น “เมืองน่าอยู่” ไปพร้อมกัน
ในด้านการผลิต จีนก็จะไม่หยุดแค่นั้น เราจะเห็นนวัตกรรมโดรนไร้คนขับที่มีขนาดและรูปแบบพิเศษ ประสิทธิภาพสูง และเอื้อต่อการใช้งานของมนุษย์อย่างรอบด้านในอนาคต รวมทั้งยังจะทำให้จีนสามารถรักษาตำแหน่งแชมป์โลกนี้ไว้ได้อีกนาน
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ประโยชน์จากโดรนไร้คนขับ จะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในจีนและประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แต่ด้วยศักยภาพการใช้ประโยชน์ที่เปิดกว้าง โดรนจะยังจะถูกนำไปใช้งานในภาคส่วนต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนั่นหมายถึงการเติบใหญ่ของอุตสาหกรรมโดรน และอาจรวมถึงการเปลี่ยนมือของมหาอำนาจทางการทหารในเวทีโลกในระยะยาว …
คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย…ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4115