ไฟเขียวเส้นทางบินตรงไทย-สหรัฐฯ ย้ำ!ไม่มีข้อจำกัด รอสายการบินมีความพร้อม
พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วง 5 เดือน(17 ก.พ. – 30 มิ.ย. 2568) ว่า ประเทศไทยมีผู้โดยสารทางอากาศราว 66.7 ล้านคน
เป็นผู้โดยสารเส้นทางภายในประเทศ 33.37 ล้านคน เส้นทางระหว่างประเทศ 39.31 ล้านคน และมีเที่ยวบินรวมราว 467,000 เที่ยวบิน แม้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่ 13.11% แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากตลาดหลัก ได้แก่ ยุโรป เอเชียใต้ และอินเดีย
ส่วนตลาดจีน แม้จะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป
ที่เน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่ง กพท. อยู่ระหว่างหารือกับทางการจีนเพื่อผ่อนผันการใช้สิทธิ Slot ให้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สายการบินของไทยสามารถนำอากาศยานไปให้บริการในตลาดสำคัญอื่น ๆ ชั่วคราว เพื่อชดเชยการชะลอตัวของตลาดจีน
ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกำลังกลับมาเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเร่งพัฒนาให้ระบบการบินของไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานความปลอดภัย และบริการ เพื่อรองรับบทบาท Aviation Hub อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา กพท. ได้ดำเนินการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการการบินในหลายด้านสำคัญ เช่น การออกใบรับรองสนามบินสาธารณะให้กับท่าอากาศยานพิษณุโลก สมุย และกระบี่ รวมทั้งออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำมีกำหนด (AOL) ให้สายการบินใหม่ 2 ราย คือ บริษัท อินทิรา (2009) แอร์ และบริษัท สยามวิงส์ แอร์ไลน์ จำกัด และออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ให้แก่ EZY Airlines ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศรายใหม่
ขณะเดียวกัน ทิศทางแผนพัฒนาภาคการบินในช่วงครึ่งปีหลัง พลอากาศเอก มนัท กล่าวว่า กพท.จะเดินหน้าปรับระบบขออนุญาตให้สะดวกขึ้น ด้วยการพัฒนา Fast Track-Document Tracking รองรับกิจกรรมการบินสมัยใหม่ พร้อมผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) อย่างเป็นรูปธรรม
เราอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและจำเริญอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เกิดความสะดวก ความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตด้านต่าง ๆ เราเป็นทีมเดียวกันที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในด้านของการเดินอากาศ
นอกจากนี้ กพท.ยังมีอีกหลายแนวทางที่จะทยอยดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบการยื่นขออนุญาตให้สะดวกรวดเร็วขึ้น มีระบบติดตามเอกสาร (Document Tracking) และระบบ Fast Track เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตได้รวดเร็วกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี กพท.จะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านการบินใหม่ ๆ เช่น การเดินอากาศในเขตเมือง การใช้โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ เพื่อรองรับรูปแบบการเดินทางและโลจิสติกส์สมัยใหม่ ขณะเดียวกัน กพท. ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) รวมถึง Training Center สำหรับนักบิน ลูกเรือ และช่าง ซึ่งจะช่วยหนุนสายการบินในประเทศอย่าง Bangkok Airways และสายการบินอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนการก้าวสู่ Aviation Hub ในอีก 5 ปีข้างหน้า พลอากาศเอก มนัท มองว่าต้องเพิ่มปริมาณผู้โดยสารแบบเปลี่ยนเครื่องให้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างว่าสุวรรณภูมิยังเป็น “Destination” มากกว่า “Hub” เนื่องจาก 95% ของผู้โดยสารเป็นผู้เดินทางเข้าไทยโดยตรง และมีเพียง 5% เท่านั้นที่เข้าไทยเพื่อเปลี่ยนเครื่อง
เปรียบเทียบภาพง่าย ๆ ว่า สนามบินก็เหมือนปั๊มน้ำมัน ที่นักเดินทางเลือกเพราะมีความครบพร้อม ไม่ใช่แค่น้ำมันแต่มีล้างรถ ร้านอาหาร และห้องน้ำ MRO ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งที่ทำกำไรโดยตรง แต่เป็นตัวดึงดูดสายการบินให้เข้ามาใช้บริการสนามบิน และธุรกิจต่อเนื่องต่างหากที่เข้ามาสร้างรายได้
อย่างไรก็ดี การพัฒนา MRO จะไม่เน้นที่สุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว แต่จะขยายไปยังภูเก็ตและอู่ตะเภา ซึ่งเหมาะกับการซ่อมอากาศยานระยะยาว
ส่วนด้านการออกใบรับรองสนามบิน พลอากาศเอก มนัท ระบุว่า ขณะนี้มีการรับรองไปแล้ว 13 แห่ง โดยการประเมินของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยจะยึดกระบวนการที่โปร่งใส หากยังไม่แล้วเสร็จก็สามารถรายงานสถานะได้โดยไม่เสียคะแนน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีจะมีการปรับลดเพดานราคาตั๋ยวเครื่องบินหรือไม่นั้น พลอากาศเอก มนัท ชี้แจงว่า ราคาตั๋วเครื่องบิน จริง ๆ แล้วราคาไม่แพง ซึ่งเที่ยวบินกรุงเทพ-ภูเก็ตบางช่วงราคาไม่ถึง 1,000 บาท ขณะที่เวียดนามมีราคาขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 2,500 บาทต่อเที่ยว แต่เพื่อให้ราคาลดลงอย่างเป็นรูปธรรม กพท.อาจต้องพิจารณาปรับ “ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน” ซึ่งเคยเก็บเพียง 20 สตางค์ ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 4 บาทกว่า ซึ่งหากลดลงได้จริง จะทำให้ต้นทุนสายการบินลดลงตามไปด้วย และส่งผลต่อราคาตั๋วโดยสารในที่สุด
ทั้งนี้ อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การเตรียมเปิดใช้ “SAF” หรือน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ซึ่งลดคาร์บอนได้ถึง 60-70% แม้ราคายังแพงกว่าปกติราว 3 เท่า แต่ในประเทศไทยเองจะเริ่มทยอยใช้ 1% โดยจะมีการลงนาม MOU กับสายการบินภายในประเทศไทยทั้งหมดในเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนความคืบหน้าในการสายการบินจากไทยสามารถบินตรงไปยังสหรัฐฯนั้น พลอากาศเอก มนัท ระบุว่า หลังไทยได้รับการยกระดับเป็น Category 1 แล้ว ขณะนี้ กพท. มีการพูดคุยกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) และสำนักงานความปลอดภัยการขนส่ง (TSA) ของสหรัฐฯแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งตอนนี้ไม่มีข้อจำกัดในการบินไปลงที่สหรัฐฯ แล้ว เหลือแค่การเตรียมความพร้อมของสายการบินไทย เช่น การจัดหาเครื่องบินที่รองรับระยะไกล และการคุ้มทุนที่จะบินตรงหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กพท. ย้ำ! มีเที่ยวบินสำรองเพียงพอ พาคนไทยในกัมพูชากลับประเทศ
ยืนยัน! มีที่นั่งเหลือ พร้อมพาคนไทยกลับประเทศ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ไฟเขียวเส้นทางบินตรงไทย-สหรัฐฯ ย้ำ!ไม่มีข้อจำกัด รอสายการบินมีความพร้อม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com