The Early Years at Old Trafford ก่อนจะมีวันที่ยิ่งใหญ่ของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
หากจะถามถึง ‘ผู้จัดการทีม’ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
หนึ่งในชื่อที่ทุกคนคิดถึงเป็นลำดับแรกๆ เสมอคือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้สร้างตำนานอันยิ่งใหญ่ในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด ด้วยการ ‘Knock Liverpool off their fxxking perch’ พาแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมาครองความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ไม่เฉพาะในวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่ยิ่งใหญ่คับยุโรปและในระดับโลก
แต่ก่อนที่เฟอร์กีจะพาพลพรรคปีศาจแดงกลับขึ้นมาจากขุมนรกได้ ตัวของเขาเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่เหมือนตกนรกอยู่หลายปีเหมือนกัน
ทีมเต็มไปด้วยผู้เล่นที่หมดสภาพ สำมะเลเทเมา ไร้ระเบียบวินัย ไม่มีนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี ไม่มีแบบแผนหรือสไตล์การเล่น
บรมกุนซือแห่งโอลด์ แทรฟฟอร์ด – ผู้ที่หากบอกไปหลายคนอาจจะไม่อยากเชื่อว่าเคยเกือบจะได้เป็นผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลด้วย – ผ่านพ้นช่วงปีแรกๆ ที่ยากลำบากมาได้อย่างไร
มาครับ ขึ้นรถ DeLorean Time Machine ของมาร์ตี แม็คฟลาย ไม่สิ ของ ‘ด็อค’ เดินทางข้ามเวลากลับไปในช่วงนั้นกัน
แค่ชั่วพริบตาเครื่องเดินทางข้ามกาลเวลาพาเรากลับมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน 1986
ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด บรรยากาศถือว่าคึกคักกว่าปกติอยู่พอสมควร เพราะนี่คือวันเปิดตัวผู้จัดการทีมคนใหม่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ทีม ‘ปีศาจแดง’ ในเวลานั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนเพราะสถานการณ์ของสโมสรเข้าขั้นวิกฤติหนัก กุนซือรุ่นเก๋าอย่าง รอน (ที่แฟนๆ มักจะเรียกเขาว่า ‘บิ๊กรอน’) แอตกินสัน พาทีมตกต่ำชนิดที่ชวนให้หวั่นใจว่าทีมอาจจะตกชั้นอีกครั้ง เพราะในสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะโดนปลดจากตำแหน่งทีมหล่นไปไกลถึงอันดับที่ 19
ถึงโดยสถานะแล้วแมนฯ ยูไนเต็ดเองก็ไม่ได้เป็นทีมใหญ่ที่มีลุ้นในเรื่องของความสำเร็จอะไร ไม่อยู่ในสายตาของยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นอย่าง 2 เมืองจากเมอร์ซีย์ไซด์ ลิเวอร์พูลกับเอฟเวอร์ตัน พวกเขาเองก็ไม่ได้แชมป์ลีกมาตั้งแต่ปี 1967 ในยุคของเซอร์ แมตต์ บัสบี และเหล่า ‘บัสบี เบบส์’ แล้ว
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายบริหารของสโมสรจะปล่อยให้มันเป็นไปแบบนี้ พวกเขาต้องการใครสักคนที่จะสามารถเข้ามากอบกู้สโมสรให้กลับมายิ่งใหญ่ให้ได้อีกครั้ง
โชคดีสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดที่พวกเขาได้รับการตอบรับจากอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
เฟอร์กูสันในเวลานั้นเป็นผู้จัดการทีมคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงของวงการฟุตบอลสกอตแลนด์ ที่สร้างผลงานโดดเด่นกับทีมอเบอร์ดีน ที่ทลายการผูกขาดของ 2 ยักษ์ใหญ่แห่งกลาสโกว์ รวมถึงพาทีมคว้าแชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ ในปี 1983 ได้ด้วย
กุนซือคนหนุ่มผู้นี้ยังมีบุคลิกที่โดดเด่น ทำให้เป็นที่ต้องตาต้องใจของหลายสโมสรในอังกฤษที่จับตามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นวูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ที่เคยพยายามติดต่อในปี 1982 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับกลาสโกว์ เรนเจอร์ส, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และอีกหลายสโมสรในยุโรป
อีกทีมที่แฟนฟุตบอลหลายคนอาจจะไม่รู้คือลิเวอร์พูล มหาอำนาจของวงการฟุตบอลอังกฤษในเวลานั้นที่เคยมีกระแสข่าวลือสะพัดว่าลิเวอร์พูล สนใจที่จะทาบทามตัวอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มารับช่วงผู้จัดการทีมคนใหม่ต่อจากโจ เฟแกน ที่ตัดสินใจวางมือจากวงการหลังจบฤดูกาล 1984/85
เพียงแต่ลิเวอร์พูลตัดสินใจมอบตำแหน่งให้แก่ เคนนี ดัลกลิช รับบท “ผู้เล่น-ผู้จัดการทีม” แทน ทำให้เฟอร์กูสันยังรอโอกาสที่จะมาสู่ฟุตบอลอังกฤษอยู่ เพียงแต่มันต้องเป็นทีมที่เหมาะสมคู่ควรกับเขาเท่านั้น
และนั่นทำให้เขาได้มานั่งเคียงข้าง มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส ประธานสโมสรผู้ทำหน้าที่สำคัญในการเกลี้ยกล่อมกุนซือคนหนุ่มผู้นี้มาสู่โอลด์ แทรฟฟอร์ดได้สำเร็จ
“ผมยังจำได้ในตอนที่ จ็อค สตีน (ตำนานผู้ยิ่งใหญ่แห่งสกอตแลนด์) เคยบอกว่าเขาเสียใจแค่ไหนในตอนที่ปฏิเสธโอกาสในการคุมทีมยูไนเต็ดในวันที่เขามีโอกาส”
“นี่คืองานเดียวในโลกที่จะทำให้ผมยอมลาจากอเบอร์ดีนมาได้ เพราะในขณะที่ผมหัวใจสลายด้วยความคิดถึงสกอตแลนด์ แต่ในเวลาเดียวกันผมก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาร่วมงานกับหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก”
สิ่งที่เฟอร์กูสันไม่รู้ในเวลานั้นคือ ความยิ่งใหญ่นั้นเป็นเพียงแค่ภาพมายาและเรื่องเล่าเก่าๆ เพราะความเป็นจริงแล้วแมนฯ ยูไนเต็ดเป็นอยู่ในเวลานั้นคือซากปรักหักพังของความยิ่งใหญ่ในอดีตเท่านั้น
ภายในทีมเต็มไปด้วยนักเตะขี้เหล้าเมาหยำเปที่ไม่มีคำว่าระเบียบหรือวินัยแม้แต่น้อย หลายคนมาฝึกซ้อมในตอนเช้าด้วยสภาพเมาค้างจากการดื่มมาอย่างหนักเมื่อคืน หรืออาจจะทั้งคืน
2 วันหลังจากที่เปิดตัวในฐานะผู้จัดการทีม กุนซือคนหนุ่มลงคุมทีมข้างสนามเป็นเกมแรกด้วยการพาทีมลงใต้ไปเยือนอ๊อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ที่สนามเมเนอร์ กราวด์ และต้องหน้าชากับความพ่ายแพ้ในแบบที่สู้ไม่ได้ ต้านไม่ไหวด้วยสกอร์ 2-0
“ผมดีใจที่มันจบลงเสียที” เฟอร์กีบอกกับสื่อที่ดูจะสนใจเขามากกว่าเรื่องอื่น และพยายามบ่ายเบี่ยงประเด็นไปในเรื่องของบรรยากาศในการแข่งขันที่สู้ในสกอตแลนด์ไม่ได้ มากกว่าจะสนใจความพ่ายแพ้ของทีมที่มีโอกาสยิงเข้ากรอบเพียงแค่หนเดียวตลอดทั้งเกม
แต่ลึกๆ ในใจแล้วเขารู้ทันทีในเวลานั้นว่ามีสิ่งที่เขาต้องทำมากมายเหลือเกิน
และมันต้องใช้เวลารวมถึงความอดทนอย่างมาก อย่างแรกที่เขาต้องการจัดการคือการปล่อยผู้เล่นที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพออกจากทีมให้หมด โดยเฉพาะกลุ่มนักเตะขี้เมาทั้งหลาย และเติมผู้เล่นคนรุ่นใหม่ที่อย่างน้อยมีทัศนคติในการเล่นดีกว่าเดิมเข้ามา
ฤดูกาลแรกของเฟอร์กีในโอลด์ แทรฟฟอร์ดเต็มไปด้วยความยากลำบาก นอกจากจะต้องต่อสู้กับคู่แข่งในสนามแล้วเขายังต้องต่อสู้กับลูกทีมที่มีปัญหาด้วย ถึงอย่างนั้นก็ยังพาทีมรอดพ้นจากการตกชั้นได้สำเร็จ จบฤดูกาล 1986/87 ด้วยการเป็นทีมในอันดับที่ 11
ก่อนที่ในฤดูกาลต่อมา ด้วยการสนับสนุนจากประธานสโมสร เฟอร์กีนอกจากจะได้นักเตะที่เขาต้องการอย่างไบรอัน แม็คแคลร์ กับสตีฟ บรูซมาร่วมทีม รวมถึงผู้เล่นที่เข้ากันได้กับ “Vision” ของเขาที่อยากมีทีมที่พร้อมทุ่มเทการเล่นเต็มที่และมีสปิริต เขายังประกาศศึกอย่างชัดเจนกับตัวปัญหาของทีม นอร์แมน ไวท์ไซด์ รวมถึงพอล แม็คกรัธ ที่ขาดความเป็นมืออาชีพ
อย่างช้าๆ แมนฯ ยูไนเต็ด ค่อยๆกลับมาเป็นทีมที่เล่นอย่างเป็นระบบแบบแผน มีความดุดันในการเล่น
จบฤดูกาลผลงานของแมนฯ ยูไนเต็ดดีขึ้นจากเดิมอย่างมาก (แม็คแคลร์ยิงไป 24 ประตูในฤดูกาลนั้น) จากอันดับที่ 11 พวกเขาจบฤดูกาลด้วยการเป็นรองแชมป์ แม้ว่าจะยังขาดความสม่ำเสมอจนทำให้แต้มห่างจากแชมป์อย่างลิเวอร์พูลมากถึง 9 แต้มก็ตาม
ทุกอย่างนั้นเหมือนจะดีแล้ว
แต่ชีวิตมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
ฤดูกาลที่ 3 ที่ควรจะดีตามความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นกลับกลายเป็นฝันร้าย
ผลงานของแมนฯ ยูไนเต็ดในฤดูกาล 1988/89 ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 11 มีความพ่ายแพ้ที่เลวร้ายบ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงการแพ้ต่อแมนฯ ซิตี คู่ปรับร่วมเมืองแบบย่อยยับถึง 5-1
สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่เฉพาะสื่อที่ตั้งคำถามกับความสามารถของเฟอร์กูสัน แต่แฟนฟุตบอลเองก็เริ่มหมดความอดทนกับเขาด้วยเช่นเดียวกัน
แบนเนอร์ขนาดใหญ่ในสนามอ่านข้อความได้ชัด “Three years of excuses and it’s still crap… Ta-ra Fergie”
และทุกอย่างยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกในฤดูกาลถัดมาเมื่อแมนฯ ยูไนเต็ด จบฤดูกาล 1989-90 ด้วยอันดับที่ 13 ในลีก เรียกว่า ‘ไม่ควร’
ด้วยอันดับและผลงานในช่วง 2 ฤดูกาลหลังสุด มันเป็นเหตุผลที่ดีพอที่สโมสรจะปลดเขาออกจากตำแหน่งได้อย่างไม่ลำบากใจ ขณะที่กับแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดแล้วเฟอร์กีสูญเสียความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำของทีมไปนานแล้ว
เพียงแต่โชคชะตาของเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนล้มเหลว
ณ เส้นตายสุดท้ายก่อนหมดเวลา แมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครองได้สำเร็จด้วยการเฉือนเอาชนะคริสตัล พาเลซ ได้ 1-0 ในเกมรอบชิงชนะเลิศนัดรีเพลย์ โดยฮีโร่ในวันนั้นคือ ลี มาร์ติน ที่เป็นผู้ทำประตูชัยให้ทีมได้
ประตูนี้ช่วยต่ออายุขัยและซื้อเวลาให้เฟอร์กีได้โอกาสในการทำงานของเขาต่อไป โดยที่ไม่มีใครในเวลานั้นล่วงรู้ได้ว่ามันคือประตูที่จะพลิกโฉมหน้าของวงการฟุตบอลอังกฤษไปอีกยาวนานกว่า 20 ปี
‘ฐานราก’ ของทีมที่เขาวางเอาไว้ตั้งแต่แรก วิธีคิด ทัศนคติ ความเป็นมืออาชีพ แท็กติกการเล่น ขุมกำลังผู้เล่นที่ดึงเข้ามาร่วมทีม รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดคือระบบทีมเยาวชนที่เข้มแข็ง กลายเป็นอาวุธสำคัญที่สุดที่ทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด ครองความยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลอังกฤษในเวลาต่อมา ด้วยการคว้าแชมป์ลีก 13 สมัย เขี่ยลิเวอร์พูลตกบัลลังก์ได้ตามที่เคยประกาศไว้ และแชมป์ยูโรเปียน คัพอีก 2 สมัย
เพียงแต่มันจะไม่มีวันที่ยิ่งใหญ่แบบนั้นได้หากเฟอร์กีไม่เข้มแข็งและอดทนมากพอที่จะเผชิญหน้ากับความกดดันมากมายมหาศาล เสียงด่าทอจากแฟนๆ และการประจันหน้ากับลูกทีมที่ไม่คู่ควรจะสวมเสื้อที่มีตราของสโมสร
ช่วงเวลาของความสำเร็จนั้นหอมหวานก็ใช่
แต่ช่วงเวลาของความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คือบทพิสูจน์ในช่วงเวลาของความยากลำบากในช่วงขวบปีแรกๆ นี้มากกว่า
เพราะมันทำให้รู้ว่าผู้จัดการทีมคนนี้คือยอดคนที่แท้จริง
อ้างอิง: