นักท่องเที่ยวจีนหาย ไทยสะเทือนทั้งระบบ มาเลเซียแซงครองแชมป์ท่องเที่ยวอาเซียน
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงสะเทือนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังจากจำนวน “นักท่องเที่ยวจีน” ซึ่งเคยเป็นหัวใจหลักของตลาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญกว่า 34.2% เมื่อเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562 โดยข้อมูลล่าสุดระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 5 กรกฎาคม 2568 พบว่า ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 16.8 ล้านคน ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะตลาดจีนที่เคยสร้างรายได้อย่างมหาศาล กำลังกลายเป็นจุดอ่อนของภาคการท่องเที่ยวไทย
แม้ตลาดระยะไกลอย่างอินเดีย ญี่ปุ่น หรือสหรัฐฯ จะเติบโตในระดับหนึ่ง และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้จ่ายสูงกว่าตลาดใกล้บ้านเฉลี่ยถึง 81,482 บาทต่อทริป แต่จำนวนยังน้อยเกินไปที่จะชดเชยการหดตัวของตลาดจีนที่เคยมีนักท่องเที่ยวมากถึง 11.1 ล้านคนในปี 2562 คิดเป็นเกือบ 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด แต่ในปีนี้คาดว่าจะไม่ถึง 5 ล้านคน และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขอยู่ที่เพียง 2.32 ล้านคนเท่านั้น
ผลกระทบชัดเจนคือ “รายได้จากการท่องเที่ยว” ของไทยที่ลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันมาเลเซียซึ่งเคยเป็นคู่แข่งอันดับรองของไทยในตลาดนักท่องเที่ยวจีน กลับสามารถ “แซงหน้า” ขึ้นแท่นประเทศยอดนิยมอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกลยุทธ์ที่เฉียบขาดและตอบโจทย์มากกว่า ทั้งการยกเว้นวีซ่าให้พลเมืองจีนถึงสิ้นปี 2569 พร้อมขยายศักยภาพเที่ยวบินตรงจากเมืองสำคัญต่างๆ ของจีน เช่น เฉิงตู เซี่ยงไฮ้ และไหโข่ว
ในไตรมาสแรกของปี 2568 มาเลเซียต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนถึง 1.12 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ไทยซึ่งแม้จะมีนักท่องเที่ยวจีน 1.3 ล้านคนในช่วงเดียวกัน แต่กลับลดลงถึง 32.71% เมื่อเทียบปีต่อปี เท่ากับว่าในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี ภาพผู้นำตลาดของไทยได้เปลี่ยนมือไปอย่างสิ้นเชิง
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงคือ “ความรู้สึกไม่ปลอดภัย” จากเหตุการณ์อาชญากรรมที่เป็นข่าวดัง ทั้งกรณียิงกันในห้างกลางกรุงเทพฯ หรือการลักพาตัวนักท่องเที่ยวจีน ที่สร้างความตื่นตระหนกในวงกว้างบนโซเชียลมีเดียจีน ขณะที่มาเลเซียกลับสามารถสร้าง “ความมั่นใจและความสะดวก” ให้กับนักท่องเที่ยวจีนได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่โรงแรมที่พูดภาษาจีนกลางได้ ระบบป้ายและข้อมูลท่องเที่ยวที่เป็นภาษาจีน หรือการจัดการด้านความปลอดภัยและภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวที่ดูเข้าถึงง่ายและเป็นมิตร
แม้ตลาดระยะไกล เช่น อังกฤษ อเมริกา หรือออสเตรเลีย จะยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังคงมีสัดส่วนเพียง 28% ของนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมด และไม่อาจทดแทนตลาดจีนที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 42,428 บาทต่อทริป พร้อมกับระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 7.36 วัน ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ใช้จ่ายเพียง 21,450 บาท และพักเพียง 4.17 วัน
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามเองก็กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งสำคัญ โดยได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่แข็งตัว เทียบกับค่าเงินด่องที่อ่อนค่ากว่า ทำให้เวียดนามกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ถูกกว่าและเข้าถึงง่ายสำหรับนักท่องเที่ยวจีน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า หากยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้เร็วพอ ไทยอาจไม่สามารถทำเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ตามที่วางไว้ได้ พร้อมเตือนว่า ถึงแม้ตลาดใหม่จะน่าสนใจ แต่ในระยะสั้น ไทยจำเป็นต้องรีบฟื้นฟูตลาดจีนให้กลับมาโดยเร็วที่สุด
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของตัวเลข แต่สะท้อนถึง “จุดเปลี่ยน” ของพลวัตการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง เพราะในโลกที่การแข่งขันด้านท่องเที่ยวรุนแรงขึ้นทุกวัน ประเทศที่ “ปรับตัวไวกว่า” คือประเทศที่ได้เปรียบ และหากไทยยังไม่เริ่มปรับทิศตอนนี้ อาจต้องรอวันถูกแซงโดยคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสนามที่เราเคยเป็นแชมป์มาก่อนเอง