“จีน” พบท้องถิ่นนำเงิน “กองทุนบำนาญ” ผิดวัตถุประสงค์หลายหมื่นล้านหยวน ใช้หนี้-อุดงบประมาณ
"จีน" เผยรัฐบาลท้องถิ่นนำเงินกองทุนบำนาญกว่า 4.06 หมื่นล้านหยวน ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งชำระหนี้และอุดหนุนงบพื้นฐานท่ามกลางวิกฤตการคลังและหนี้แฝงที่พุ่งสูง
วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 12.00 น. สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติจีน (National Audit Office) พบว่ารัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งนำเงินกองทุนบำนาญขั้นพื้นฐานของรัฐไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านหยวน เพื่อนำไปใช้ชำระหนี้และกิจกรรมอื่น ๆ ท่ามกลางภาวะการเงินตึงตัวที่รุนแรงขึ้นของท้องถิ่น
ตามรายงานตรวจสอบประจำปี 2024 ของคณะรัฐมนตรีจีน (State Council) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทำการตรวจสอบกองทุนบำนาญขั้นพื้นฐานมูลค่ารวม 4.1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5.769 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนในเขตเมืองและชนบทใน 25 มณฑลและเขตปกครองระดับจังหวัด
จากการตรวจสอบพบว่า มีเงินประมาณ 6.02 หมื่นล้านหยวนถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยกรณีร้ายแรงที่สุดคือการนำเงินกองทุนบำนาญกว่า 4.06 หมื่นล้านหยวน ใน 13 พื้นที่ไปใช้จ่ายในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการชำระหนี้ของรัฐบาล และค่าใช้จ่ายตามนโยบาย "สามประกัน" ได้แก่ การประกันชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน, การจ่ายค่าจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ และการดำเนินงานพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐ
รายงานระบุว่า นโยบาย "สามประกัน" มีความสำคัญมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญแรงกดดันทางการคลังอย่างหนัก
ทั้งนี้กองทุนบำนาญของรัฐถือเป็นเสาหลักเสาแรกของระบบบำนาญแบบสามเสาของจีน โดยมุ่งเน้นให้มีไว้สำหรับจ่ายเงินบำนาญให้กับประชาชนโดยเฉพาะ ไม่ควรนำไปใช้เพื่อการชำระหนี้ของรัฐบาลหรืออุดช่องว่างงบประมาณ
อย่างไรก็ตามในการตรวจสอบก่อนหน้านี้พบว่าการนำเงินกองทุนบำนาญไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป โดยบางส่วนถูกนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงเมือง หรือถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยักยอกไปใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจ
ปัญหานี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญวิกฤตการคลังรุนแรงขึ้นจากรายได้ภาษีที่ลดลงและภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการขายที่ดิน ซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลท้องถิ่น
แม้ว่ารายได้จะหดตัว แต่รายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นกลับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่สมดุลระหว่างภาระทางการคลังของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น โดยจากข้อมูลของ Caixin วิเคราะห์จากตัวเลขของรัฐบาล พบว่า รายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มจากประมาณ 70% ของงบประมาณรัฐบาลรวมก่อนการปฏิรูประบบการคลังปี 1994 เป็น 85.7% ในปี 2567 ขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นยังเผชิญปัญหาหนี้แฝงจำนวนมหาศาล
รายงานของคณะรัฐมนตรีระบุว่า การนำเงินกองทุนบำนาญไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจส่งผลให้เกิดช่องว่างในระบบความคุ้มครองของประชาชน
ทั้งนี้มีประชาชนกลุ่มเปราะบางเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งควรได้รับสิทธิบำนาญ แต่กลับถูกละเลยหรือขาดสิทธิ์ โดยในจำนวนนี้มีประชาชนกลุ่มเปราะบางและแรงงานอิสระประมาณ 477,000 คน จาก 23 มณฑลและเขตปกครองที่มีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองแต่ไม่ได้รับการลงทะเบียน และยังมีเกษตรกรที่ที่ดินถูกเวนคืนอีกประมาณ 2.5 ล้านคนใน 21 มณฑล ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าบำนาญตามสิทธิ์
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเรียกร้องให้มีการบริหารจัดการกองทุนบำนาญของรัฐอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งสำรวจความครอบคลุมของระบบบำนาญในกลุ่มประชากรสำคัญ และระบุช่องว่างด้านงบประมาณให้ชัดเจน รวมถึงจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ
อ้างอิง : asia.nikkei.com