"ดร.เพิก" ชูนโยบาย "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน" บริหารยางพาราไทยทั้งระบบสู่มาตรฐานโลก
"ดร.เพิก" เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กร - บริหารจัดการระบบยางพาราไทย ประกาศชัดผ่านนโยบาย “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” มุ่งสร้างอาชีพชาวสวนยางสู่ความมั่นคง พร้อมยกระดับยางไทยสู่เวทีโลกอย่างแข็งแกร่ง
วันที่ 2 ก.ค.68 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย แถลงนโยบายสำคัญ “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” หลังเข้ารับตำแหน่ง รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. อย่างเป็นทางการ เร่งสร้างความมั่นคงในอาชีพชาวสวนยาง ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ หนุนการทำสวนยางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราอย่างครบวงจร พร้อมยกระดับมาตรฐานยางพาราไทยสู่ระดับสากล ณ ห้องกันตัง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานใหญ่
ดร.เพิก กล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อนยางพาราผ่านนโยบายหลักสำคัญว่า กยท. จะดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ คือ “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” ซึ่งการจะขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมายนั้น จะต้องผลักดันมาตรการต่างๆ ในการบริหารจัดการยางพาราให้ครอบคลุมทุกมิติ เกิดการสร้างเสถียรภาพให้กับราคายาง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประการที่ 1 “อยู่ได้” กยท. จะสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ผ่านการผลิตปัจจัยการผลิตภายใต้แบรนด์ของ กยท. ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำสวนยาง ได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/ตัน ซึ่งเริ่มต้นจากการผลิตปุ๋ยยางตามสูตรภูมิภาคตามชุดภาคพื้นดินที่มีค่าวิเคราะห์ สำหรับใช้ช่วงก่อน-หลังเปิดกรีด เพื่อนำมาใช้เองภายในประเทศก่อน 100,000 ตัน ก่อนขยายไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ กยท. ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้และนวัตกรรมแก่เกษตรกรฯ อย่างต่อเนื่องผ่านการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำสวนยางที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต นำมาสู่รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้ชาวสวนยางได้ในระยะยาว ประการที่ 2 “พอใจ” กยท. จะเดินหน้าบริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาโรคใบร่วงอย่างเป็นรูปธรรมในขณะเดียวกัน กยท. ยังคงผลักดันการออกโฉนดไม้ยางทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ไม้ยางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ถือเป็นการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยาง เสริมความมั่นคงทางการเงินให้ชาวสวนยางทั่วประเทศ
ดร.เพิก กล่าวเพิ่มติมว่า หลักสำคัญประการสุดท้าย คือ “ยั่งยืน” กำหนดเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ยางไทยมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก จึงมุ่งดำเนินการสร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกัน 500 ตลาดทุกท้องถิ่นทั่วไทย รองรับ EUDR มีกระบวนการรับซื้อยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ถึงสวนยางที่ปลูก คาดว่าจะเพิ่มมูลค่ายางได้ไม่ต่ำกว่า 3 บาท/กิโลกรัม ควบคู่กับการผลิตยางที่มีมาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางและการทำสวนยางแบบ BCG Model ที่จะช่วยเพิ่มรายได้เสริมให้ชาวสวนยางได้ ทั้งนี้ ยังคงเดินหน้ามาตรการเข้มงวดการนำเข้ายางเถื่อนแบบจริงจัง ควบคุมการนำเข้าการกักตุนและการเก็งกำไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ นอกจากนี้ กยท. ยังมุ่งมั่นเพิ่มมูลค่าให้ยางพาราไทยอย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตยางล้อแบรนด์ กยท. สำหรับใช้ในหน่วยงานภาครัฐก่อนขยายสู่ตลาด ช่วยดูดซับยางออกจากระบบได้มากกว่า 400,000 ตัน/ปี อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างจริงจัง และขับเคลื่อน กยท. สู่การเป็นผู้กำหนดราคากลางของตลาดยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.เพิก กล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบายในการบริหารและเพิ่มศักยภาพบุคลากรของ กยท. ว่า จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร โดยสนับสนุนให้บุคลากรของ กยท. มีการพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ การหา connection จากหน่วยงานพันธมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมถึงการกำหนดให้บุคลากรปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ตรงกับความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อเสริมให้การดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจของ กยท. เป็นไปได้อย่างเต็มศักยภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลโดยตรงถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบอาชีพชาวสวนยางและทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องในระบบยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานได้อย่างครอบคลุม จนเกิดเป็นความยั่งยืนในระยะยาว
“กยท. พร้อมเดินหน้า สร้างความมั่นคงให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมยางไทยทั้งระบบ โดยเชื่อว่า นโยบาย ‘อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน’ จะเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับ กยท. ในฐานะองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางทั้งระบบ เพื่อพี่น้องชาวสวนยางและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการทำงานเชิงรุก โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมยางไทย ยืนหยัดบนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” ดร.เพิก กล่าว