“ราคาน้ำมันดิบ” พุ่งต่อเนื่อง จับตาสหรัฐคว่ำบาตรรัสเซีย-ซาอุฯผลิตเกินโควตา
"ราคาน้ำมันดิบ" พุ่งต่อเนื่อง จับตาสหรัฐคว่ำบาตรรัสเซีย-ซาอุฯผลิตเกินโควตา OPEC+ ส่งแรงกดดันต่อเสถียรภาพตลาดโลก แม้ดีมานด์จากจีนยังช่วยพยุงราคาในระยะสั้น
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.04 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบ ขยับขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์ โดยปรับขึ้นจากการเพิ่มขึ้นกว่า 2% เมื่อวันศุกร์ ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนต่อมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากสหรัฐต่อรัสเซีย ซึ่งอาจกระทบต่ออุปทานน้ำมันทั่วโลก อย่างไรก็ตามการที่ซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิต และความไม่แน่นอนเรื่องภาษีนำเข้าที่ยังดำเนินอยู่ กลับจำกัดการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน
ฟิวเจอร์สน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.3% มาอยู่ที่ 70.57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 06.51 GMT ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้น 2.51% เมื่อวันศุกร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ของสหรัฐขยับขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.3% อยู่ที่ 68.65 ดอลลาร์ หลังจากปิดบวก 2.82% ในวันก่อนหน้า
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ แถลงเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออต (Patriot) ให้ยูเครน พร้อมเตรียมออกแถลงการณ์สำคัญเกี่ยวกับรัสเซียในวันจันทร์นี้ โดยทรัมป์แสดงความไม่พอใจต่อวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหรัฐ จากความล้มเหลวในการยุติสงคราม และการทวีความรุนแรงของการทิ้งระเบิดในยูเครน
สภาคองเกรสสหรัฐกำลังผลักดันร่างกฎหมายสองพรรคที่มีเป้าหมายคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม เพื่อกดดันให้รัสเซียเข้าสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพอย่างจริงจัง โดยยังรอการสนับสนุนจากทรัมป์ ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็ใกล้บรรลุข้อตกลงมาตรการคว่ำบาตรชุดที่ 18 ต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการลดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่ 4 รายหลังการประชุมเมื่อวันอาทิตย์
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน เบรนท์เพิ่มขึ้น 3% ขณะที่ WTI บวก 2.2% หลังจาก IEA ระบุว่าตลาดน้ำมันโลกอาจตึงตัวมากกว่าที่คาด โดยมีแรงหนุนจากฤดูกาลกลั่นน้ำมันสูงสุดในช่วงฤดูร้อนเพื่อรองรับการเดินทางและความต้องการใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า ราคายังถูกกดดันจากข้อมูลการผลิตน้ำมันของซาอุฯ ซึ่งสูงกว่าโควต้าที่ตกลงในกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) โดย IEA ประเมินว่าซาอุฯ ผลิตน้ำมันในเดือนมิถุนายนเกินเป้าราว 430,000 บาร์เรลต่อวัน หรือผลิตรวม 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามข้อตกลงของ OPEC+ อย่างเต็มที่ และยอดส่งออกน้ำมันในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 9.352 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ในฝั่งของจีน ข้อมูลจากศุลกากรระบุว่าการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 7.4% จากปีก่อน อยู่ที่ 49.89 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 12.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นระดับรายวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2566
นักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan คาดว่าจีนจะยังคงตุนสำรองน้ำมันต่อเนื่อง แม้คลังน้ำมันจะใกล้เต็มระดับสูงสุดแล้วก็ตาม โดยอาจเริ่มมีการปล่อยน้ำมันออกสู่ตลาดตะวันตกมากขึ้น ซึ่งอาจกดดันราคาน้ำมันในอนาคต ทั้งนี้นักลงทุนยังจับตาผลการเจรจาการค้าของสหรัฐกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและความต้องการพลังงานในระยะยาว
อ้างอิง : reuters.com