Google ทุ่ม 2.4 พันล้านดอลลาร์ คว้าตัวซีอีโอ Windsurf ปิดดีลตัดหน้า OpenAI
Google ทุ่มเงินกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ (ราว 87,000 ล้านบาท) เพื่อจ้างซีอีโอของสตาร์ตอัปชื่อ Windsurf พร้อมขอลิขสิทธิ์ใช้เทคโนโลยีบางส่วน เช่น ทีมวิจัย AI coding เข้าสู่ทีม DeepMind หน่วยวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของตน โดยไม่ซื้อบริษัท ไม่ถือหุ้น ไม่รวมพนักงานที่เหลือ
โดยก่อนหน้านี้ OpenAI เคยยื่นซื้อ Windsurf ที่มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ แต่ดีลล่ม เพราะ Microsoft ซึ่งถือหุ้นใหญ่ของ OpenAI ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขการแชร์เทคโนโลยีของ Windsurf
ดังนั้น Google จึงเข้าแทรกกลาง คว้าตัวผู้นำและนักวิจัยหลักของบริษัท เพื่อเสริมทัพทีม DeepMind ของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นการซื้อตัวบุคคล (acquihire) ไม่ใช่การซื้อทั้งบริษัท
คำถามคือ Windsurf คือใคร? ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, OpenAI และ Cognition จึงต้องแย่งกันช่วงชิงบริษัทนี้กันอย่างดุเดือด
Windsurf จากสตาร์ตอัป สู่ดาวรุ่ง AI Coding
Windsurf ก่อตั้งเมื่อปี 2022 โดยกลุ่มวิศวกรที่เคยทำงานให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ นำโดยซีอีโออย่าง วรุณ โมฮัน (Varun Mohan) จบการศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ทั้งปริญญาตรีและโท มุ่งเน้นเรื่อง deep learning และระบบซอฟต์แวร์ เคยทำงานให้ LinkedIn, Quora, Databricks
และยังมี ดักลาส เฉิน (Douglas Chen) ศิษย์เก่าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จาก MIT อดีตวิศวกร machine learning ของ Facebook ที่ร่วมก่อตั้งมาด้วยกัน
บริษัท Windsurf เคยใช้ชื่อเดิมว่า Codeium เป็นบริษัทพัฒนาเครื่องมือ AI coding assistant ที่ช่วยให้โปรแกรมเมอร์สามารถเขียนโค้ดได้เร็วขึ้น ด้วยการใช้ภาษาธรรมชาติคล้าย ChatGPT หรือ GitHub Copilot ที่นักพัฒนาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
แต่ Windsurf เลือกลงลึกไปที่ฟังก์ชันระดับองค์กร (enterprise-grade) เช่น การจัดการโปรเจกต์ขนาดใหญ่ โค้ดหลายภาษา การจัดระเบียบโครงสร้างระบบ และการเข้าใจบริบททางธุรกิจในระดับที่สูงกว่า
ระบบเอไอที่ Windsurf ใช้คือ โมเดลจากAnthropic หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Claude’ ซึ่งเป็นคู่แข่งของ GPT-4 จาก OpenAI โดย Windsurf ใช้ Claude เป็นเบื้องหลังเพื่อขับเคลื่อนการเข้าใจภาษาธรรมชาติของผู้ใช้งาน ก่อนจะแปลงเป็นโค้ด และแนะนำทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาระบบนั้นๆ
ความสามารถของแพลตฟอร์มนี้ คือการแปลงคำอธิบายธรรมชาติ (natural language) ให้กลายเป็นโค้ดในภาษาโปรแกรมต่างๆ พร้อมแนะนำแนวทางการแก้ไข เทียบได้กับ ‘ผู้ช่วยเขียนโปรแกรมอัจฉริยะ’ ที่ไม่เพียงตอบคำถาม แต่เข้าใจบริบทของโครงการซอฟต์แวร์ทั้งชุด
ตัวเลขที่น่าจับตา
แม้จะก่อตั้งมาเพียงไม่ถึง 3 ปี แต่ Windsurf เติบโตอย่างก้าวกระโดด
- รายได้ประจำปี 2024 (ARR): 82 ล้านดอลลาร์
- รายได้ฝั่งองค์กร: เติบโต 2 เท่าทุกไตรมาส
- ทีมพนักงาน: ราว 250 คน
- ลูกค้าหลัก: บริษัทเทคโนโลยีและองค์กรขนาดใหญ่ในอเมริกาเหนือ
Windsurf ได้รับความสนใจจากนักลงทุน VC รายใหญ่ และเคยอยู่ในเรดาร์ของ OpenAI ที่ยื่นข้อเสนอเข้าซื้อกิจการที่มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
จุดแข็ง - จุดอ่อนของ Windsurf
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Windsurf กลายเป็นสตาร์ตอัปที่นักลงทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องจับตามอง คือ ผลิตภัณฑ์ที่เน้น Agentic Coding หรือเอไอที่สามารถเข้าใจและรันกระบวนการเขียนโค้ดแบบอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่ช่วยพิมพ์
นอกจากนี้ บริษัทยังมีทีมวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง โดยหลายคนเคยทำงานใน OpenAI, DeepMind, Amazon และ Google มาก่อน
โมเดลธุรกิจที่มีกระแสเงินสดจากลูกค้าองค์กร ทำให้เติบโตแบบมีรายได้จริง แตกต่างจากสตาร์ตอัปเอไอหลายรายที่ยังต้องพึ่งพิงการระดมทุนเป็นหลัก ทำให้ Windsurf มีฐานการเงินที่แข็งแรง สามารถลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและขยายทีมได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องพึ่งพิงเงินทุนเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้จะโตเร็ว แต่ Windsurf ก็มีจุดอ่อนที่ส่งผลต่อดีลในระยะหลัง คือการพึ่งพาโมเดลของ Anthropic ทำให้เกิดปัญหาใหญ่เมื่อในเดือนมิถุนายน
Anthropic ตัดสินใจตัด API ของ Windsurf ออก เนื่องจากมองว่ามีความใกล้ชิดกับ OpenAI ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรง ส่งผลให้ระบบหลักของ Windsurf ใช้งานไม่ได้บางส่วน สถานะของบริษัทเริ่มไม่แน่นอนในสายตานักลงทุน และเมื่อทีมผู้บริหารหลักถูก Google ดึงออกในวันที่ดีลกับ OpenAI ล่ม บริษัทก็เข้าสู่ภาวะต้องหาทางรอดทันที
Cognition เข้าซื้อทรัพย์สินส่วนที่เหลือของ Windsurf
ช่วงเวลาเพียง 3 วันเกิดเหตุการณ์พลิกผันที่สะท้อนการแข่งขันในตลาด AI coding
วันศุกร์ (11 ก.ค.) ข้อเสนอซื้อกิจการ Windsurf จาก OpenAI มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์หมดอายุลง โดยไม่สามารถตกลงกันได้ เย็นวันศุกร์ Google รีบเข้าเจรจาจ้างทีมผู้บริหารรวมไปถึงนักวิจัยบางส่วน พร้อมทั้งได้รับลิขสิทธิ์เทคโนโลยีบางส่วนของ Windsurf
วันจันทร์ (14 ก.ค.) สตาร์ตอัป Cognition ประกาศผ่านแอคเคาท์ X ของบริษัท เข้าซื้อทรัพย์สินส่วนที่เหลือของ Windsurf รวมทั้งดูแลพนักงานที่ไม่ได้ย้ายไป Google
Cognition ยังให้ผลตอบแทนกับพนักงานทุกคนโดยยกเว้นการรอ vesting หรือช่วงเวลาที่ต้องทำงานครบก่อนรับสิทธิ์หุ้น จึงช่วยรักษาขวัญและกำลังใจทีมงานได้เป็นอย่างดี
ตลาด AI Coding กำลังเดือด
กรณี Windsurf คือภาพสะท้อนของตลาดที่ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาด AI coding กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจจากนักลงทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก
โดยเห็นได้จากมูลค่าบริษัทและรายได้ของผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้ที่พุ่งสูงหลายเท่าตัว เช่น
- Cursor (Anysphere) มีรายได้ประจำปี (ARR) กว่า 500 ล้านดอลลาร์ ได้รับการประเมินมูลค่าบริษัทถึง 9.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราส่วน 19.8 เท่าของรายได้ประจำปี
- Replit มีรายได้ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าบริษัท 1.16 พันล้านดอลลาร์เติบโตเร็วถึง 10 เท่าภายในเวลาเพียง 6 เดือน
- Lovable มีรายได้ 50 ล้านดอลลาร์ กำลังอยู่ระหว่างการระดมทุนที่มูลค่าบริษัทสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 40 เท่าของรายได้ประจำปี
มูลค่าและอัตราส่วนราคาต่อรายได้เหล่านี้สูงกว่าบริษัท B2B ทั่วไป สะท้อนว่า ‘ผู้ช่วยเอไอ’ สำหรับนักพัฒนาโค้ดได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
อ้างอิง: The wall street journal และ Saastr