CKPower คว้ารางวัล Asia’s Best Companies 2025 จากนิตยสาร FinanceAsia
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ได้รับรางวัลระดับ Bronze ในกลุ่มบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม (Best Managed Company) จากเวทีประกาศรายชื่อสุดยอดบริษัทแห่งเอเชีย 2568 (Asia’s Best Companies Poll 2025) จัดโดยนิตยสาร FinanceAsia ฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อด้านการเงินการลงทุนชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งมอบรางวัลให้แก่องค์กรชั้นนำของเอเชีย จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์ นักลงทุน และนักวิเคราะห์ทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยพิจารณาจากมิติแห่งความเป็นเลิศหลายปัจจัย อาทิ การวางกลยุทธ์องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสในการสื่อสารกับนักลงทุน การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงความสามารถในการปรับตัวและรักษาเสถียรภาพของธุรกิจ ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การได้รับรางวัลในครั้งนี้สะท้อนถึงความสำเร็จของ CKPower ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนความสามารถในการรักษาเสถียรภาพ แม้อยู่ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ผันผวน และบริบทของโลกที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน "C-K-P" ซึ่งประกอบไปด้วย C – ไฟฟ้าสะอาด (Clean Electricity) มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2586 และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มากกว่า 95% ภายในปีเดียวกัน รวมถึงเดินหน้าสู่ Net Zero ภายในปี 2593, K – เพื่อนบ้านที่ดี (Kind Neighbor) สนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชนและชุมชน โดยดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบจริยธรรม ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนผ่านการพัฒนาพลังงานสะอาดและโครงการด้านสังคมและ P – พันธมิตรที่ยั่งยืน (Partnership for Life) ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการขยายฐานลูกค้าและการเติบโตในภูมิภาค
"สำหรับก้าวเดินต่อจากนี้ CKPower ได้วางแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้ง พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตจากโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในรูปแบบ Private PPA และ ยื่นประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากภาครัฐ ควบคู่ไปกับการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) ด้านโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ที่ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ครบทั้งหมดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ขณะที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง คาดว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนในปี 2573 โดยบริษัทได้วางเป้าหมายการเติบโตในด้านการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสร้างรากฐานความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน " นายธนวัฒน์ กล่าวเสริม
เกี่ยวกับ “บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower”
บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 18 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย (1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง ภายใต้ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ (2) โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และ (3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 13 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 11 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 28 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์