โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รักษามะเร็งด้วยเครื่องโปรตรอน ความหวังของวงการแพทย์ไทย

Amarin TV

เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา
รักษามะเร็งด้วยเครื่องโปรตรอน ประเทศไทยมีแห่งเดียวคือศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา ร.พ.จุฬาลงกรณ์

โรคมะเร็งเป็นเรื่องใหญ่เสมอ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ครอบครัวไหน ในกลุ่มสังคมไหนก็ตามที

จากข้อมูลที่เผยแพร่ในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาพบว่า แต่ละปีโรคมะเร็งคร่าชีวิตผู้ป่วยมากกว่า 8 ล้านคนต่อปี จำนวนนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขประชากรทั้งประเทศของ สปป.ลาว ปารากวัยและเซียร์ราลีโอนเลย

ส่วนในประเทศไทยนั้น มะเร็งก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆเกือบ 7 หมื่นคนต่อปี หรือ เฉลี่ย 8 คนต่อชั่วโมง มีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นปีละนับแสนคน

ที่น่ากังวลคือ คนไทยเป็นมะเร็งปอดกันเพิ่มมากขึ้น พบได้ทั้งคนที่สูบบุหรี่และคนที่ไม่สูบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากปัญหามลพิษที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เหมือนภัยร้ายใกล้ตัวที่มองไม่เห็น เช่นเดียวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบเพิ่มมากขึ้นในทั้งเพศหญิงและชาย ซึ่งอาจเกิดจากวิถีชีวิตทั้งการรับประทานอาหาร ความเครียดและขาดการออกกำลังกาย

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว นอกจากจะต้องใช้พลังตั้งสติกันทั้งตัวผู้ป่วยและคนรอบข้างแล้ว สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการวางแผนการรักษาไปพร้อมกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่าย เป็นเรื่องที่ได้ยินกันบ่อยที่เราได้ยินคนพูดกันว่า “ขายบ้าน ขายสมบัติเพื่อรักษาตัว” ในทางการแพทย์จะทราบกันดีกับคำศัพท์การล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์ (Catastrophic health expenditure) ถ้าใครที่มีประกันสุขภาพเอาไว้ก็พอจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง แต่ถ้าไม่มีและต้องการออกเงินรักษาเองนอกเหนือจากสิทธิหลักประกันที่มี (Out-of-pocket) ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายของค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

สิทธิการรักษาพยาบาลในประเทศไทยครอบคลุมชีวิตคนไทยทุกคนทั้งสิทธิเบิกของข้าราชการโดยเบิกจากกรมบัญชีกลาง สิทธิประกันสังคมโดยกองทุนประกันสังคมและสิทธิบัตรทองโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรูปแบบการรักษาแตกต่างกันออกไปตามสถานพยาบาลรวมทั้งสิทธิที่มีอยู่

ส่วนรักษาหายหรือไม่หาย ก็เป็นอีกเรื่อง

ลำดับขั้นของการรักษาจะเป็นไปตามกระบวนการและความเห็นของแพทย์ผู้รักษา ตั้งแต่การผ่าตัด การฉายแสง การทำเคมีบำบัด ไปจนถึงการใช้ยาแบบมุ่งเป้า แต่ละรูปแบบมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถของแพทย์หลายแผนกในการรักษาผู้ป่วยหนึ่งราย การทำงานจึงไม่ง่ายเลย

สิ่งที่น่าทึ่งคือความพยายามที่ไม่ลดละของวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งมิติของการป้องกันและการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้านี้ เมื่อพูดถึงการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ถือเป็นเรื่องใหม่ที่สร้างความตื่นตะลึง เป็นความหวังว่ายาเหล่านี้จะเข้าไปจัดการมะเร็งได้ดั่งใจ จนเมื่อผ่านมาสักระยะก็พบว่าเรายังอยู่ในจุดที่ยังห่างไกลจากภาพอุดมคติไปพอควร มะเร็งเองก็พัฒนาและกลายเพันธุ์เพื่อเอาตัวรอดในร่างกายของคน การพัฒนาหนทางรักษาก็ยังต้องทำต่อไป

เมื่อไม่หยุดพัฒนา ก็จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การรักษามะเร็งด้วยเครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตรอน (Proton Beam Therapy) ถือเป็นเครื่องมือที่แม่นยำที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งที่อวัยวะสำคัญโดยมีจุดเด่นคือการรักษาที่ตรงจุดและลดภาวะแทรกซ้อนรังสีได้เป็นอย่างดี มีหลักการที่ผู้เขียนจะขออธิบายตามประสาคนไม่ได้เรียนหมอมาว่า เป็นการเร่งอนุภาคโปรตรอนที่มีขนาดเล็กสุดๆ ให้เร็วถึง 2 แสนกิโลเมตรต่อวินาที (เกือบเท่าความเร็วแสง) แล้วส่งอนุภาคนั้นไปที่เครื่องฉายรังสียิงตรงไปที่ก้อนมะเร็งที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งทุกอย่างจะถูกคำนวณโดยนักฟิสิกส์ผู้ชำนาญการ เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบกับอวัยวะในร่างกายหรือเกิดน้อยที่สุดและส่งพลังงานสูงสุดไปที่ชิ้นเนื้อร้ายโดยตรง จะแตกต่างการการฉายรังสีเอ็กซ์แบบที่คนทั่วไปคุ้นเคย ซึ่งอวัยวะส่วนอื่นตั้งแต่ผิวหนังและจุดที่ลึกลงไปจะบาดเจ็บไปด้วย แต่อนุภาคโปรตอนจะขนาดเล็กกว่ามากและไปจัดการเฉพาะจุดที่ตั้งเป้าเอาไว้เท่านั้น ยิงเข้าไปและหยุดอยู่ที่จุดเป้าหมายเท่านั้น ความคลาดเคลื่อนแทบจะเป็นศูนย์

เครื่องที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ใช้คือ Varian ProBeam โดย Varian บริษัทลูกของ Siemens

เทคโนโลยีนี้ใช้กันแพร่หลายสำหรับการรักษามะเร็งในเด็กและมะเร็งในจุดที่สำคัญและบริเวณที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ทั้งสมอง ไขสันหลัง ตับ บริเวณศรีษะและลำคอ อาจมีการผ่าตัดชิ้นเนื้อออกภายหลังเมื่อขนาดเล็กลงแล้วในบางกรณี ขึ้นกับแนวทางการรักษาของแพทย์

ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีสถานพยาลที่รักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยอนุภาคโปรครอนเพียงแห่งเดียวคือศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยงบประมาณในการติดตั้งและพัฒนาสูงถึง 1.2 พันล้านบาทและค่าบำรุงรักษาปีละไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท เป็นหมุดหมายสำคัญของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในไทยให้ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

คนสำคัญที่ต้องให้เครดิตและถือเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญคือ รศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ หัวหน้าศูนย์โปรตรอนฯ และนายกสมาคมรังสังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย ที่อยู่กับโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบันนี้สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยอนุภาคโปรครอนถึงวันละ 20-25 ราย แต่ละรายต้องเข้ารับการรักษาเฉลี่ย 10 ครั้ง โดยผู้ป่วยทั่วไปจะรับการรักษาประมาณ 5 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยเด็ก จะรับการรักษาประมาณ 30 ครั้ง

เครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตรอนที่โรงพยาบาลจุฬาฯทำงานทุกวันตั้งแต่เช้าตรู่ยันค่ำ ได้หยุดพักวันเดียวก็คือวันอาทิตย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่อง

การรักษารูปแบบนี้ถือเป็นแสงสว่างให้กับผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์กับโรค ช่วยรักษาอย่างตรงจุด ผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ประมาณ 1-2 ล้านบาทต่อคนและต้องได้รับความเห็นจากแพทย์ว่าสมควรได้รับการรักษารูปแบบนี้ก่อนจึงจะทำได้ ไม่ใช่ว่าตรวจพบโรคและจะขอใช้เครื่องอนุภาคโปรตรอนได้เลย

ผู้เขียนเองก็เพิ่งมีโอกาสไปดูงานกับหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์รุ่น 2 (ปนพ.2) โดยสถาบันมหิตลาธิเบศรและสถาบันพระปกเกล้าที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเข้าเยี่ยมชมเครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตรอนที่ Ruijin Hospital โรงเรียนแพทย์ชั้นนำ ก่อตั้งมาเกือบ 120 ปี ได้เห็นความตั้งใจของฝั่งโลกตะวันออกในการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ของคนจีนขึ้นมาเพื่อให้ต้นทุนถูกลง เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

เมื่อมีการแข่งขัน คนที่ประโยชน์คือผู้บริโภค

หลักการที่เหมือนกันคือ จะมีเครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตรอนได้ ต้องใช้เงินทุนขนาดใหญ่ เพราะใช้พื้นที่มากเนื่องจากต้องติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคโปรตรอนขนาดใหญ่ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญ และยังต้องมีนักฟิสิกส์ทำงานร่วมกับแพทย์อีกด้วย เมื่อสถานพยาบาลจะลงทุนกับเทคโนโลยีนี้ ก็ต้องสร้างตึกและทีมดูแลโดยเฉพาะ เปรียบเสมือนการสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมาเลยทีเดียว

เขียนมาถึงตรงนี้ ก็ได้แต่จินตนาการว่าถ้าโรงเรียนแพทย์ของไทยทุกแห่งมีศูนย์อนุภาคโปรตรอนกันหมด จะเครื่องของฝรั่งหรือของจีนก็ตามที น่าจะช่วยผู้ป่วยได้มากขึ้นพร้อมกับสร้างทีมแพทย์ นักรังสีวิทยา นักฟิสิกส์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก โจทย์ที่ท้าทายคืองบประมาณ ความพร้อมของบุคลากร รวมทั้งวิสัยทัศน์ของแต่ละองค์กรด้วย เมื่อถึงวันที่การใช้งานเทคโนโลยีนี้แพร่หลายขึ้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายก็จะลดลง ผู้คนก็สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เป็นภาพฝันที่ใครก็อยากให้เกิดขึ้นจริง

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Amarin TV

ความสุข คือ ภูมิคุ้มกัน วิธีดูแลสุขภาพกาย-ใจ สไตล์ "นพ. ธนีย์ ธนียวัน"

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ซดน้ำยาลาโลก! หนุ่มเครียดติดด่านปอยเปตวีซ่าหมด-ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

ข้อสรุปสำคัญ "มะเร็งรักษาทุกที่" กลับใช้เกณฑ์เดิม ดีอย่างไรกับผู้ป่วย

Amarin TV

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดตัว “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปฏิวัติการรักษามะเร็ง” ร่วมรณรงค์ CRA United by Unique Against Cancer เอาชนะมะเร็งด้วยสหวิทยาการรักษา เนื่องในวันมะเร็งโลก

Amarin TV

ยกเลิกแล้ว! มะเร็งรักษาทุกที่ กลับไปใช้ฉบับเดิม แก้ปัญหาใช้ใบส่งตัว

Amarin TV
ดูเพิ่ม
Loading...