นำร่องลำปางแล้ว!บพท.หนุนระบบ"ฮับส่งโฮงยา-โทรเวชกรรม" ปฏิวัติสาธารณสุขชุมชนไกลปืนเที่ยง
ลำปาง - บพท.ผนึกเครือข่าย อว.-กรรมการ สช.-นักวิจัย มช.-อปท.ปั้นแอป"ฮับส่งโฮงยา-โทรเวชกรรม" รับส่งผู้ป่วยเบา-เข้าถึงการรักษาออนไลน์-เก็บฐานข้อมูล ปฏิวัติสาธารณสุขชุมชนไกลปืนเที่ยง ล่าสุดจับมือ อบจ.ลำปาง เดินเครื่องนำร่องใน รพ.สต.ที่ได้รับถ่ายโอนแล้ว
แม้สาธารณสุขไทยจะมีการพัฒนาระบบการบริการมากขึ้น แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งก้าวเข้าสู่สังคมผู้อายุ สถานที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่ห่างไกล ฯลฯ จึงเป็นเรื่องยากของคนบางกลุ่มในการจะเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงได้สนับสนุนให้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม(อว.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาระบบการให้บริการ
พร้อมกันนั้น บพท.และเครือข่ายได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ พัฒนาระบบการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยที่ จ.ลำพูน ทีมวิจัยจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.ดร.อรัญญา ศิริผล หัวหน้าโครงการฯ ได้ร่วมกับเทศบาล ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน ดำเนินการ "โครงการพัฒนาขีดความสามารถการบริการสุขภาพผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิง" ใช้ระบบ "ฮับส่งโฮงยา" และ "โปรแกรมยืม-คืนอุปกรณ์ทางการแพทย์"
ซึ่งระบบ "ฮับส่งโฮงยา" มีการใช้แอปพลิเคชัน “ฮับส่งโฮงยา” เพื่อเรียกรถรับส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลแบบไม่ฉุกเฉิน (Non-Emergency Transportation System – NETS) จากเดิมที่มีการใช้โทรศัพท์สายด่วน 1669 สำหรับรับส่งผู้ป่วยเฉพาะที่ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน ช่วยให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุแ ละผู้มีภาวะพึ่งพิงในกลุ่มหมอนัด เช่น ฟอกไตทุก 3 วัน ล้างแผล ผู้ป่วยติดเตียงต้องไปโรงพยาบาล ฯลฯ ที่ประสบกับปัญหาในการเดินทาง ระบบนี้จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เข้ารับส่งผู้ป่วยโดยการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์ มีระบบจัดเก็บข้อมูลและประมวลผล วิเคราะห์เพื่อพัฒนาแผนงานและวางนโยบายด้านสุขภาพชุมชนในพื้นที่ด้วย
ขณะที่ จ.ลำปาง บพท.และเครือข่าย ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำปาง ดำเนินโครงการพัฒนาระบบโทรเวชกรรมและระบบสุขภาพปฐมภูมิในประเทศไทย จ.ลำปาง นำร่องที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านกิ่วหลวง ต.บ้านกิ๋ว อ.แม่ทะ
ซึ่งนอกจากจะใช้ระบบ "ฮับส่งโฮงยา" แล้วยังมีการใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) อันเป็นระบบที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาสอบถามอาการป่วยของตนเองกับหมอผ่านระบบออนไลน์และได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้อง แอปพลิเคชันนี้ชาวบ้านสามารถเข้าใช้ได้ด้วยตนเอง และทางศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ อบจ.ลำปาง ยังจะมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดเพื่อใช้ประมวลผลโรค การรักษา และสถิติต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบการให้บริการในอนาคต
รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม บพท.เปิดเผยว่าในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยได้ประจักษ์แจ้งชัดถึงผลลัพธ์โครงการวิจัยว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
โครงการฯ ที่เทศบาล ต.เวียงยอง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของชาวบ้าน รวมทั้งสามารถสร้างนวัตกรชุมชนด้านสุขภาพได้ถึง 10 คน โครงการยังได้รับการสนับสนุนเครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 5 ลิตร จำนวน 2 เครื่อง จากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และจะมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและบริหารสุขภาพข้ามองค์กรในวันที่ 31 ก.ค.2568 ณ ห้องประชุมเทศบาล ต.เวียงยอง ด้วย
นางสาวปรานอม โอสาร หัวหน้าศูนย์ฯ (ศสท.) หัวหน้าศูนย์วิชาการนโยบายระบบสุขภาพท้องถิ่น (ศสท.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ร่วมลงพื้นที่ติดตามโครงการฯ กล่าวว่ากระบวนการวิจัยจะมีการคัดเลือกพื้นที่นำร่อง รพ.สต.ให้ได้จำนวน 7 - 10 แห่ง จากทั้งหมด 67 แห่งที่ถ่ายโอนสู่ อบจ.ลำปาง โดยเน้นพื้นที่ที่มีประชากรกลุ่มเปราะบาง ยากจนกระจุกตัวหนาแน่น หรืออาศัยอยู่ในที่กันดารห่างไกลและมีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ
และเมื่อนำเอาระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เข้าไปสนับสนุนพบว่าช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ลดความแออัดในโรงพยาบาลหลัก และเสริมการดูแลสุขภาพปฐมภูมิใน 5 ด้านสำคัญคือการป้องกันและบำบัดโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาลอย่างง่าย การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค
"เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ตอนนี้ระบบโทรเวชกรรม สามารถขยายขอบเขตพื้นที่บริการจาก 10 แห่ง เป็น 20 แห่งแล้ว อีกทั้งยังได้รับการยกระดับขึ้นเป็นระบบบริการสุขภาพทางไกลแบบบูรณาการ (Telehealth) ครอบคลุมหลายมิติ คือการพยาบาล (Telenursing) การให้คำปรึกษาด้านยา(Tele pharmacy) การฟื้นฟูสมรรถภาพ (Telerehabilitation) การดูแลด้านจิตเวช (Tele mental health) การส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ(Health Literacy) และศูนย์นวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิต้นแบบ ที่ถูกขยายผลจาก จ.ลำปาง ไปยัง จ.ลำพูน และ จ.กระบี่ โดยยึดเอาลำปางโมเดลเป็นต้นแบบต่อไป" นายแพทย์ปรีดา กล่าว
ล่าสุดวันที่ 25 ก.ค.2568 ที่ห้องประชุม อบจ.ลำปาง นายแพทย์ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ รองนายก อบจ.ลำปาง ได้ให้การต้อนรับฝ่ายบริหาร บพท.สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวง อว.และ สช.รวมทั้งคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ลงพื้นที่ติดตามคืบหน้าของโครงการพัฒนาระบบโทรเวชกรรมและระบบสุขภาพปฐมภูมิในประเทศไทย จ.ลำปาง
ซึ่งนายแพทย์ไชยนันท์ยอมรับว่าในอดีตชาวบ้านที่มีปัญหาด้านสุขภาพเคยใช้โทรศัพท์ปรึกษาแพทย์แต่พบปัญหาว่าไม่มีการบันทึกรายละเอียดใดๆ ผู้ป่วย ไม่สามารถติดตามอาการหรือดูรายละเอียดอื่นๆ ได้ ชาวบ้านบางคนปรึกษากับคนทั่วไปแล้วไปซื้อยากินเองทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายตามมา ดังนั้นการใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สามารถช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปหาแพทย์ได้โดยตรง
โดยเฉพาะที่ รพ.สต.บ้านกิ่วหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล มีผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อนำระบบนี้มาใช้ร่วมกับการฝึกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็ทำให้ประชาชนประหยัดค่าเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลา หมอสามารถวินิจฉัยโรค สั่งจ่ายยาได้อย่างถูกต้อง ผู้สูงอายุก็ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน หมอไม่ต้องเดินทางไกลและประหยัดเวลาในการให้คำปรึกษา ส่วน อสม.ก็สามารถฝึกฝนเรียนรู้ระหว่างที่หมอสอบสวนโรคผู้ป่วยผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) อีกด้วย
ปัจจุบันการดำเนินการของ บพท.ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยได้ทำให้เห็นผลอย่างชัดเจนว่าการวิจัยมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในที่ห่างไกล โดยเมื่อการวิจัยถูกนำมาปรับใช้ดำเนินโครงการต่างๆ ทั้ง "โครงการพัฒนาขีดความสามารถการบริการสุขภาพผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิง" และ "โครงการพัฒนาระบบโทรเวชกรรมและระบบสุขภาพปฐมภูมิในประเทศไทย จ.ลำปาง" ได้ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สูงอายุ ยากจน ฯลฯ สามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO