อัตราการเกิดน้อย คนแก่เยอะ ประชากรเกาหลีลดฮวบ อีก 100 ปี เหลือเพียง 15% ของปัจจุบัน
เทรนด์ประชากรลด แต่งงานน้อย ไม่มีลูกนั้น นอกจากจะเริ่มทำให้เราเห็นเด็กที่น้อยลง โรงเรียนที่ปิดตัวแล้ว และหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยที่สุดในโลกอย่างเกาหลีใต้นั้น อาจจะมีประชากรเหลือเพียง 15% ของปัจจุบัน ใน 100 ปีข้างหน้าด้วย
การคาดการณ์ของสถาบันประชากรคาบสมุทรเกาหลีเพื่ออนาคตชี้ว่า หากระดับประชากรของเกาหลีใต้ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ใน 100 ปีข้างหน้า หรือปี 2125 เกาหลีใต้จะเหลือประชากรเพียง 15% ของปัจจุบัน คือเหลือเพียง 7.53 ล้านคน จาก 51.68 ล้านคนในปัจจุบัน
ตัวเลขนี้ถือว่าน้อยขนาดที่ว่า น้อยกว่าประชากรปัจจุบันของเมืองหลวงอย่างกรุงโซล ที่มีมากกว่า 9.3 ล้านคน
แต่ถึงอย่างนั้น การคาดการณ์ในกรณีที่ดีที่สุดที่อาจจะเป็นไปได้ว่า ประชากรเกาหลีใต้อาจจะไม่เหลือน้อยขนาดนั้น แต่ก็จะมากที่สุดที่ 15.73 ล้านคน ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยกว่าหนึ่งในสามของขนาดปัจจุบัน หรือสรุปแล้ว ค่าเฉลี่ยมัธยฐานประมาณว่าประชากรเกาหลีจะหดตัวอยู่ที่ 11.15 ล้านคน
การคาดการณ์นี้ ใช้เทคนิคการประเมินประชากรในศตวรรษหน้า ด้วยการรวมปัจจัยต่างๆ อย่าง อัตราการเกิด อัตราการเสียชีวิต และรูปแบบการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งยังเน้นย้ำอัตราการลดลงของประชากรที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสถานการณ์เฉลี่ย ประชากรจะลดลง 30 % ภายในปี 2075 และมากกว่าครึ่งหนึ่งในช่วง 50 ปีต่อมา
การลดลงนี้ไม่เพียงแต่เกิดจากอัตราการเกิดที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังเป็นผลกระทบอื่นๆ จากการที่จํานวนคนน้อยลงในแต่ละรุ่น กลุ่มพ่อแม่ที่มีศักยภาพจึงหดตัวลง เร่งการลดลงต่อไป ทั้งวิกฤตผู้สูงวัยเอง ก็คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน
ปัจจุบัน คนวัยทำงาน ซึ่งคือกลุ่มคนอายุ 15-64 ปี 100 คน จะต้องแบก หรือสนับสนุนผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 30 คน แต่การคาดการณ์ที่แย่ที่สุดในสถานการณ์สังคมสูงวัยคือ ใน 75 ปีข้างหน้า หรือปี 2100 คนทำงาน 100 คน จะต้องแบกผู้สูงอายุถึง 140 คน ซึ่งในทางประชากรศาสตร์นั้นเรียกว่าพิรามิดกลับหัว ที่จํานวนผู้ที่ถูกอุปการะมีจํานวนมากกว่าผู้ที่ให้การสนับสนุน
รายงานนี้ ยังรวบรวมความคิดของคนในวัย 20-40 ปี เกี่ยวกับการแต่งงาน และมีลูก ซึ่งเห็นได้ว่า พวกเขามองถึงความสำคัญของ ‘เงิน’ และ ‘ที่อยู่อาศัย’ มากกว่า ‘ความรัก’ และเมื่อพูดถึงการแต่งงาน หรือภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่คนกลุ่มนี้กังวลมากสุดคือการพูดคุยเกี่ยวกับการมีลูก
รายงานจึงสรุปว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการแต่งงาน และการเลี้ยงดูลูกได้รับอิทธิพลจากสภาพเศรษฐกิจมากกว่าความชอบส่วนบุคคล
ปัจจุบัน อัตราการเจริญพันธุ์รวมของเกาหลีใต้ หรือ จํานวนลูกโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงคาดว่าจะมี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.75 แต่ก็ถือว่ายังต่ำมาก และต่ำกว่าระดับทดแทนที่ 2.1 แม้ว่าสถานการณ์ในปี 2025 จะมีแนวโน้มเชิงบวกที่ อัตราการเกิดของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในรอบสามทศวรรษ มีจำนวนประชากรแรกเกิดเพิ่มขึ้น รวมถึงการแต่งงานที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มอย่างยั่งยืน
นโยบายบู๊สๆ จากรัฐบาลเกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็พยายามออกนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูก ด้วยแรงจูงใจต่างๆ ทางการเงิน ทั้งเงินสำหรับคลอดบุตร และการเลี้ยงดู มีการคำนวนว่า จากนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยสังคมสูงวัยและนโยบายประชากร สําหรับทารกที่เกิดในปี 2024 หนึ่งคนจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเงินสดทั้งหมด 29.6 ล้านวอน (ประมาณ 7 แสนบาท) ในช่วงแปดปีนับจากเวลาที่เกิด
โดยมีการให้เงินก้อน 2 ล้านวอน แก่ผู้ปกครอง เมื่อทารกเกิด และหากมีลูกคนที่สองจะได้รับ 3 ล้านวอน ทั้งยังมีบัตรกํานัลเงินสดสามารถใช้จ่ายกับศูนย์ดูแลหลังคลอด ค่ารักษาพยาบาล อาหาร และผลิตภัณฑ์สําหรับเด็กได้
ทั้งผู้ปกครองยังได้รับเช็ครายเดือนหลังจากทารกเกิดในปีที่คลอดลูก พ่อแม่จะได้รับ 1 ล้านวอนทุกเดือนเป็นเวลา 12 เดือน ในปีที่สองของจะได้รับ 5 แสนวอนอีก 1 ปี คิดเป็น 18 ล้านวอนในช่วง 2 ปีแรก และยังจ่ายอีก 1 แสนวอนทุกๆ 1 เดือนจนเด็กอายุครบ 8 ปีด้วย
นโยบายเหล่านี้ซึ่งกลายเป็นปกติมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศอย่างแคนาดา ฮังการี ญี่ปุ่น โปแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ก็มีการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เพิ่มวันลาคลอด เงินอุดหนุนการดูแลเด็ก ซึ่งข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า ประเทศต่างๆ มีนโยบายเหล่านี้ เพิ่มมากขึ้นกว่า 2 เท่า จากช่วงต้นศตวรรษที่ 21
ข่าวที่เกี่ยวข้อง