เตือนเกษตรกร ลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงติดเชื้อ 'โรคไข้ดิน' ร่างกายจะค่อย ๆ ป่วย จนเสียชีวิต
เตือนเกษตรกร ลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงติดเชื้อ 'โรคไข้ดิน' เชื้อฟักตัว 1-21 วัน ก่อนจะค่อย ๆ ป่วย ยิ่งหากเชื้อแพร่ลามไปอวัยวะอื่นด้วย มีโอกาสเสียชีวิตทันที
4 ก.ค. 68 - นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เตือนเกษตรกร หรือผู้ที่ทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง ไม่ควรเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือ "โรคไข้ดิน" ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดิน ในน้ำ นาข้าว แปลงผัก สวนยาง และบ่อน้ำ
นพ.ทวีชัย ระบุว่า โรคไข้ดิน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย พบได้ทั่วไปในดิน ในน้ำ นาข้าว ท้องไร่ สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จับปลา ลุยน้ำ ปลูกแปลงผัก ทำสวนยาง จับปลา หรือลุยโคลน
เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางดังนี้
1. การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลได้
2. การดื่มน้ำไม่สะอาด รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป หรือการสำลักน้ำที่มีเชื้อโรค
3. สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป
หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน
อาการของโรคไม่มีลักษณะเฉพาะ มีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่น เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ติดเชื้อเฉพาะที่ หรือติดแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย และ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือ "โรคไข้ดิน" ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง หากมีบาดแผลควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากทำงานหรือลุยน้ำ หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวติดต่อกันเกิน 5 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เตือนเกษตรกร ลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงติดเชื้อ 'โรคไข้ดิน' ร่างกายจะค่อย ๆ ป่วย จนเสียชีวิต
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th