เอกชนผวา! ภาษีไทยสูงกว่าเวียดนาม ลุ้น “ทรัมป์”ส่งจม.แจ้งจันทร์นี้ ยังไม่มีชื่อ “ไทย”
แม้คณะ“ทีมไทยแลนด์” ที่นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาในช่วงวันที่ 2 - 4 กรกฎาคม 2568 เพื่อเจรจากับรัฐบาลวอชิงตันเรื่องมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนไทยเริ่มวิตกหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไทยจะถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราสูงสุดถึง 36% ตามที่ประกาศไว้เดิม
ทั้งนี้แม้นายพิชัยเปิดเผยว่า การเจรจาเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ได้พูดคุยทั้งกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR), รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังสหรัฐ, นักลงทุนอเมริกันในไทย และกลุ่มภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้ไทยได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำมาปรับปรุงข้อเสนอใหม่ โดยตั้งเป้าส่งภายในก่อนเส้นตาย 9 กรกฎาคมนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีสูง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ยังไม่แน่นอน และไทยยังไม่ได้รับคำตอบแน่ชัดจากฝั่งสหรัฐว่าข้อเสนอที่เตรียมปรับใหม่จะผ่านหรือไม่ ขณะที่ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันศุกร์ (5 ก.ค.) ว่าได้ลงนามจดหมายแจ้งอัตราภาษีต่างตอบแทนแล้ว 12 ฉบับ และจะทยอยส่งตั้งแต่วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป
โดยมาตรการภาษีดังกล่าวอยู่ภายใต้นโยบาย "Reciprocal Tariff" ซึ่งสหรัฐฯ จะเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า ในอัตราระหว่าง 10–70% และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้ หากไม่มีข้อตกลงร่วมกันทันภายในกำหนด
ปัจจุบันมีเพียง 2 ประเทศที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้แล้ว คือ สหราชอาณาจักร และเวียดนาม โดยในกรณีเวียดนาม สหรัฐจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามลงเหลือ 20% (จากที่ประกาศไว้เดิมที่อัตรา 46%) แต่แลกกับการที่เวียดนามต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐลงเหลือ 0% และร่วมมือป้องกันการ “สวมสิทธิ์” แหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศที่สาม โดยในส่วนนี้เวียดนามยังต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐในอัตราสูงถึง 40%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคเอกชนกังวลว่าไทยอาจเสียเปรียบทางการค้าเพราะเป้าหมายอัตราภาษีที่ไทยจะได้รับจากสหรัฐต้องไม่เสียเปรียบเวียดนาม เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐส่วนใหญ่ เป็นสินค้าคล้ายกับเวียดนาม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารแปรรูป ฯลฯ หากไทยยังต้องเผชิญกับภาษี 36% ขณะที่เวียดนามจ่ายเพียง 20% จะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนสูงกว่า และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทันที
“เวลานี้ทีมไทยแลนด์ต้องทำการบ้านกันหนักมาก ซึ่งขอให้กำลังใจ เพราะข้อเสนอที่เราส่งไปยังไม่เพียงพอ และยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ที่ชัดเจน ขณะที่ทรัมป์ประกาศจะทยอยส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีตอบโต้กับประเทศคู่ค้ากว่า 100 ประเทศในสัปดาห์หน้า ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเสียภาษีในอัตราสูง หากจดหมายมาถึงก่อนที่เราจะบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐ” นายเกรียงไกร กล่าว
ภาคเอกชนยังจับตาว่าสหรัฐ จะประกาศรายชื่อประเทศที่ได้รับจดหมายภาษีล็อตแรกในวันจันทร์นี้จะมีชื่อประเทศไทยหรือไม่ รวมถึงในการประกาศในวันต่อ ๆ ไป ซึ่งหากไทยอยู่ในรายชื่อดังกล่าวก่อนที่จะยื่นข้อเสนอรอบใหม่ อาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสสำคัญ และต้องยอมรับผลกระทบเต็มที่ แม้ภาคเอกชนไทยยังมีความหวังว่าไทยอาจได้รับอัตราภาษีใกล้เคียงเวียดนาม แต่หลายฝ่ายก็เริ่มตั้งคำถามว่า เวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่วันจะเพียงพอหรือไม่ ในการพลิกสถานการณ์ได้ทัน ก่อนถึงเส้นตายที่ทรัมป์วางไว้ในวันที่ 9 กรกฎาคม นี้
ต่อคำถามที่ว่าในสถานการณ์แบบนี้ภาคเอกชนจะทำอย่างไร นายเกรียงไกร กล่าวว่า คงต้อง Wait & See ส่วนภาครัฐและเอกชนไทยจะตั้งรับหรือเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรนั้น ในเวลานี้ยอมรับว่าจะวางแผนรับมือหรือทางหนีทีไล่อย่างไรคงลำบาก เพราะยังไม่ได้ Final คือการเจรจายังไม่สิ้นสุด ขณะที่ภาษีที่สหรัฐจะเก็บจากไทยก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งถามว่ามีความหวังหรือไม่ที่ไทยจะได้อัตราภาษีใกล้เคียงกับเวียดนามคือไม่เกิน 20% ในเรื่องนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้คงไม่สามารถตอบได้