เผยผลิตทุเรียนภาคเหนือตอนล่าง ปี 68 รวม 6 จังหวัด เพิ่มขึ้น 12.47%
นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตทุเรียนภาคเหนือตอนล่าง ปี 2568 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ พิษณุโลก ตาก และน่าน (ข้อมูล ณ 4 มิถุนายน 2568) โดยแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า อุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ยืนต้น 58,211 ไร่ (เพิ่มขึ้น 7,078 ไร่ หรือร้อยละ 13.84) เนื้อที่ให้ผล 42,766 ไร่ (เพิ่มขึ้น 551 ไร่ หรือร้อยละ 1.31) ผลผลิต 37,634 ตัน (เพิ่มขึ้น 3,606 ตัน หรือร้อยละ 10.60) สุโขทัย มีเนื้อที่ยืนต้น 16,620 ไร่ (เพิ่มขึ้น 106 ไร่ หรือร้อยละ 0.64) เนื้อที่ให้ผล 13,656 ไร่ (เพิ่มขึ้น 424 ไร่ หรือร้อยละ 3.2) ผลผลิต 7,975 ตัน (เพิ่มขึ้น 1,213 ตัน หรือร้อยละ 17.94) แพร่ มีเนื้อที่ยืนต้น 8,276 ไร่ (เพิ่มขึ้น 253 ไร่ หรือร้อยละ 3.15) เนื้อที่ให้ผล 5,548 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,134 ไร่ หรือร้อยละ 25.69) ผลผลิต 3,345 ตัน (เพิ่มขึ้น 342 ต้น หรือร้อยละ 11.39) พิษณุโลก มีเนื้อที่ยืนต้น 7,934 ไร่ (เพิ่มขึ้น 223 ไร่ หรือร้อยละ 2.89) เนื้อที่ให้ผล 4,196 ไร่ (เพิ่มขึ้น 751 ไร่ หรือร้อยละ 21.8) ผลผลิต 2,014 ตัน (เพิ่มขึ้น 477 ตัน หรือร้อยละ 31.03) ตาก มีเนื้อที่ยืนต้น 6,411 ไร่ (เพิ่มขึ้น 294 ไร่ หรือ ร้อยละ 4.81) เนื้อที่ให้ผล 3,770 ไร่ (เพิ่มขึ้น 104 ไร่ หรือร้อยละ 2.84) ผลผลิต 3,140 ตัน (เพิ่มขึ้น 296 ตัน หรือร้อยละ 10.41) และน่าน มีเนื้อที่ยืนต้น 3,107 ไร่ (เพิ่มขึ้น 131 ไร่ หรือ ร้อยละ 4.4) เนื้อที่ให้ผล 1,577 ไร่ (เพิ่มขึ้น 569 ไร่ หรือร้อยละ 56.45) ผลผลิต 378 ตัน (เพิ่มขึ้น 105 ตัน หรือร้อยละ 38.46) ทั้งนี้ เกษตรกรทั้ง 6 จังหวัดนิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ทางการค้าผู้บริโภคตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ด้านสถานการณ์ราคาทั้ง 6 จังหวัด ที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 7 กรกฎาคม 2568) ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 83 จำหน่ายแบบแบ่งเกรด ได้แก่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย จำหน่ายเกรด A – AB ราคา 75 - 80 บาท/กิโลกรัม เกรด C ราคา 50 - 70 บาท/กิโลกรัม และแบบตกเกรด (น้ำหนักต่อผลเกิน 5 กก. และผลไม่สวย) ราคา 35- 45 บาท/กิโลกรัม ส่วนจังหวัดพิษณุโลก ตาก และน่าน จำหน่ายแบบคละเกรด ราคา 70 - 85 บาท/กิโลกรัม
สำหรับความโดดเด่นของทุเรียนแต่ละพื้นที่ พบว่า อุตรดิตถ์ แหล่งผลิตทุเรียนที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ยืนต้นมากถึงร้อยละ 57.89 ของเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนภาคเหนือ สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 5,300 กว่าล้านบาท เกษตรกรปลูกพันธุ์หมอนทองเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาพันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล ซึ่ง “ทุเรียนหลง - หลินลับแล” ได้รับการขึ้นทะเบียน GI เนื้อของทุเรียนเนียนละเอียด หอมอ่อน ๆ รสชาติหวานมัน สุโขทัย เกษตรกรปลูกพันธุ์หมอนทอง ภายใต้ชื่อ “หมอนพระร่วง สุโขทัย” ปลูกบนภูเขาและที่ราบเชิงเขา แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติดี เนื้อหนาเนียนละเอียด รสชาติเข้มข้นไม่หวานจัด ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้ส่งเสริมการผลิตและการจัดการแปลงให้ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุเรียนหมอนพระร่วงสุโขทัยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และก้าวขึ้นเป็นผลไม้เศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของจังหวัด สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 800 ล้านบาท และ พิษณุโลก จังหวัดมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-tourism) เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะทุเรียนในพื้นที่ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย ภายใต้ชื่อ “ทุเรียนหมอนทอง บ้านแยงนครไทย พิษณุโลก” ปลูกในพื้นที่ภูเขา แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ทุเรียนมีเนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่นละเอียด รสชาติหวานมันครีมมี่ และมีกลิ่นหอม ซึ่งจังหวัดตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งเสริมการแปรรูปทุเรียนสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียนภาคเหนือตอนล่าง ปี 2568 ในพื้นที่ 6 จังหวัด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2650 หรืออีเมล์ zone2@oae.go.th