ค่าครองชีพยิ่งสูง การเดตก็ยิ่งยาก คนรุ่นใหม่เลยขอเดตแบบ ‘ครีเอทีฟ’ ขึ้น แกลมน้อยลง เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และชีวิตรักโรแมนติกไปพร้อมๆ กัน
ต้องยอมรับว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหน่วงขึ้นจากความไม่แน่นอนของโลกทุกวันนี้ส่งผลกระทบทั่วถึงแทบจะทุกๆ ด้านของชีวิตเรา ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการกินการอยู่ การทำมาหากิน หรือเรื่องปากท้อง เพราะหนึ่งในนั้นยังรวมถึงเรื่อง ‘ความรักความสัมพันธ์’ ของคนยุคนี้ที่ได้รับผลพวงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จริงอยู่ว่า ‘เงิน’ อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักของการที่ใครสักคนจะมีความสัมพันธ์หรือความรักโรแมนติก แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเงินคือปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้องค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งอาจช่วยให้การพบเจอความสัมพันธ์ของคนในยุคนี้เป็นเรื่องง่ายขึ้นมากๆ เมื่อความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่เรื่องของโชคชะตาหรือว่ารักแท้ที่พร้อมจะเดินเข้ามาหาเราได้ทุกเมื่ออีกแล้ว แต่ยังเป็นการที่เราต่างต้อง ‘ลงทุน’ ไปอย่างมากมาย ในความหมายของการลงทุนที่เป็นตัวเงินจริงๆ นี่แหละ ถึงจะมีโอกาสได้เลือกมากว่า หรือได้พบเจอความสัมพันธ์มากกว่า ลองคิดง่ายๆ ว่า แค่จ่ายเงินซื้อบริการแบบพรีเมียมใน Dating App ต่างๆ ก็มีโอกาสได้เลือกมากกว่าเป็นไหนๆ อยู่แล้ว
และปัญหาเศรษฐกิจที่ยิ่งทำให้ค่าครองชีพทุกๆ ด้านของชีวิตสูงขึ้น นอกจากจะมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำในการตามหาความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากันแล้ว ยังอาจกระทบกับไลฟ์สไตล์การเดตของคนยุคนี้ จนหลายคนต้องพับเก็บความคิดที่จะมีใครสักคนไปเลยก็เป็นได้
มีผลสำรวจในกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ทางฝั่งแคนาดาจากเมื่อช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2025 ที่ผ่านมาซึ่งพบว่า ค่าครองชีพกระทบกับการมองหาความรักความสัมพันธ์ของคนยุคนี้จริงๆ เพราะคนโสดกว่า 42% บอกว่าพวกเขาต้องวางแผนอย่างดีมากขึ้นก่อนไปเดตแต่ละครั้งเพราะเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนี่แหละ ส่วนอีกกว่า 30% ก็เลือกที่จะเดตน้อยลง หรือไม่ไปเลยดีกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการเก็บเงินไว้ใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เพราะค่าเฉลี่ยของการไปเดตก็อยู่ที่ประมาณคนละ 10-21 ครั้ง และใช้เงินประมาณ 173 เหรียญฯ หรือราวๆ 4-5 พันบาท สำหรับคนคนหนึ่งในการลงทุนไปเดตแต่ละครั้ง กว่าที่จะตัดสินใจคบกัน
นั่นแปลว่าเราจะไม่ได้เสียเงินแค่ค่าใช้จ่ายหน้างานตอนเดตอย่างพวกค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าตั๋วหนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคิดรวมไปถึงค่าน้ำมัน ค่ายานพาหนะ ค่าเดินทาง และไหนจะค่าใช้จ่ายสำหรับการเตรียมตัวก่อนหน้านั้นอีกอย่างเสื้อผ้าหน้าผม ซึ่งนับเป็นการลงทุนเป็นเงินเป็นทองไปซะหมด แบบจะไม่นับรวมก็คงไม่ได้
ส่วนฝั่งอเมริกา ผลสำรวจจาก BMO Survey ก็พบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ใช้เงินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณคนละ 22,000 เหรียญต่อปีในการเดต ที่คิดเป็นเงินไทยกลมๆ ก็จะราวๆ 5,000 กว่าบาทต่อเดือนซึ่งสำหรับหลายคน ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลยเมื่อเทียบกับว่าการเดตนั้นอาจไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย
พอไลฟ์สไตล์การเดตมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายมหาศาลแบบนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็เลยจำเป็นต้องคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น เพื่อเลือกว่าจะเอาเงินที่หามาอย่างยากลำบากไปเดต หรือว่าจะเก็บไว้เพื่อมีชีวิตอยู่รอดในแต่ละวันดีกว่า และผลพวกจากปัญหาค่าครองชีพสูงนี้เองที่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการเดตเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเงินมากขึ้นไปด้วย อย่างการที่คนเจนฯ Z จำนวนหนึ่งพยายามมองหาทางเลือกที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของการเดตแต่ละครั้ง เช่น จากเดิมที่เคยนัดดินเนอร์ในร้านอาหารแบบแกลมๆ ก็เลือกที่จะไปแฮงก์เอาต์ในคาเฟ่ จิบเครื่องดื่มคนละแก้วพอกรุบกริบ หรือทางเลือกในการเดตที่ได้รับความนิยมรองลงมาอย่างการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ชวนกันไปเดินเล่นเรื่อยเปื่อยตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ แบบไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องนั่งกินร้านไหนเป็นพิเศษ ไม่ก็หากิจกรรมแนวสร้างสรรค์อื่นๆ ทำด้วยกัน อย่างการเดินเล่นดูงานนิทรรศการ ดูการแสดง มหรสพต่างๆ ดูงานศิลปะ (ที่ไม่เสียค่าเข้าชม) ฯลฯ หรือการชวนกันไปดูหนังผ่านสตรีมมิ่งที่บ้านของใครสักคน แล้วทำอาหารกินเองมันซะเลยเพื่อความประหยัดงบ ก็เป็นการเดตที่คนยุคนี้เลือกเช่นกัน
เรียกว่ายิ่งค่าครองชีพบีบคั้นมากเท่าไร ยิ่งทำให้หลายคนต้องพยายามมองหากิจกรรมเดตแบบ ‘ครีเอทีฟ’ มากขึ้น แกลมน้อยลง เพื่อความอยู่รอดของทั้งชีวิตตัวเอง และชีวิตรักโรแมนติกไปพร้อมกัน
เช่นเดียวกับที่สถานการณ์ค่าครองชีพยังได้เปลี่ยนรูปแบบของการ ‘เลือกคน’ และ ‘โอกาส’ ที่จะเดตด้วย เพราะยิ่งคนรู้สึกเหมือนว่าพวกเขาต้องลงทุนมากขึ้นสำหรับเดตแต่ละครั้งเท่าไร ก็ยิ่งไม่อยากจะเสียเวลา เสียทรัพยากรมากเกินไปกับการเดตคนที่ไม่ (น่าจะ) ใช่ ซึ่งเเปลว่านั่นยิ่งเป็นการตัดโอกาสในการเจอความรักความสัมพันธ์ของคนยุคนี้ไปด้วยโดยปริยาย
และเมื่อหนทางที่จะเจอความรักความสัมพันธ์ถูกจำกัดให้น้อยลงไปตามเงินในกระเป๋า บางคนก็เลยเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็น ‘Epidemic of loneliness’ ซึ่งอาจแผ่ขยายให้ผู้คนยุคนี้รู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยนเหงามากขึ้นไปอีก
แต่ในอีกแง่ มันก็ทำให้คนส่วนหนึ่งคิดไตร่ตรองกับการมองหาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและมึความหมายลึกซึ้งมากขึ้นไปด้วย เช่นหลายคนก็เลือกที่จะลงทุนในความสัมพันธ์แบบเพื่อน แม้จริงอยู่ว่าเป็นความสัมพันธ์คนละชุดกับความรักโรแมนติก แต่ก็อาจจะพอใช้สู้กับความรู้สึก ‘Insecure’ ในโลกท่ีไม่มีอะไรให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยสักเท่าไรเช่นนี้ได้บ้าง
เหมือนกับความเห็นของ Cliff Lerner ผู้ก่อตั้ง Saturday แพลตฟอร์มที่พาคนมารู้จักผ่านการการเจอบนโซเชียลฯ แบบไม่เสียงเงิน แต่ได้มาเเฮงก์เอาต์ ทำความรู้จักกันแบบตัวเป็นๆ ที่มองว่าถึงความรักโรแมนติกในเวลานี้จะเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ชุดอื่นๆ อยู่รอบข้างเราเต็มไปหมดนี่นะ
“คนเจนฯ Z เริ่มมองหาความสัมพันธ์ที่มีความเป็นธรรมชาติ และอยู่ในบริบทที่ค่อนข้างออร์แกนิกเช่นความสัมพันธ์แบบเพื่อนมาเป็นอันดับแรกๆ ก่อน แล้วหากหลังจากนั้นมันจะมีความรักโรแมนติกอะไรตามมา ก็นับว่าเป็นผลพลอยได้ที่เริ่ดเลยล่ะ”
อ้างอิง
https://www.instagram.com/p/DLnRSgBsNRY/?img_index=1
https://newsroom.bmo.com/2025-02-06-BMO-Survey-Rising-Cost-of-Living-is-Affecting-Dating
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- ค่าครองชีพยิ่งสูง การเดตก็ยิ่งยาก คนรุ่นใหม่เลยขอเดตแบบ ‘ครีเอทีฟ’ ขึ้น แกลมน้อยลง เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และชีวิตรักโรแมนติกไปพร้อมๆ กัน
- ‘Floodlighting’ เมื่อเขาดีพทอล์กใส่รัวๆ แชร์เรื่องหนักๆ ตั้งแต่เดตกันแรกๆ ความใกล้ชิดแบบเร่งรัดในความสัมพันธ์ ที่อาจทิ้งความ ‘อึดอัด’ ให้ฝ่ายที่ยังไม่พร้อม
- Therapist vs ChatGPT แง่มุมทั้งดีและร้ายของการที่คนยุคนี้เลือกแชตบอท AI เป็นที่พึ่งทางใจ แทนการไปหาเทอราพิสต์
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com