‘อนุสัญญาออตตาวา’ ห้ามการใช้ทุ่นระเบิด แต่เขมรกลับละเมิดทั้งที่ร่วมลงนามแล้ว
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ขณะที่ทหารชุดลาดตระเวนจำนวน 14 นาย จากกองร้อยทหารพราน 2302 ออกลาดตระเวนจากฐานปฏิบัติการมรกตไปยังเนิน 481 พื้นที่ชายแดนไทย–เขมร จังหวัดอุบลราชธานี ณ พิกัด WA 220 861 โดยได้เหยียบทุ่นระเบิด ชนิดแอนติ–เพอร์ซันนัล (landmine) ทำให้ผู้บาดเจ็บ มี 3 นาย ได้แก่ พลทหารธนพัฒน์ หุยวัน ขาขาดต้องผ่าตัด และได้รับการเคลื่อนย้ายไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ส่วนอีก 2 นายคือ จ่าสิบเอกปฏิพัทธ์ ศรีลาสัก และ พลทหารณัฐวุฒิ ศรีค้ำ บาดเจ็บเล็กน้อย อาการปลอดภัย
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และหน่วย EOD กองทัพภาคที่ 2 ได้ทำการตรวจสอบชนิดของระเบิดพบว่าเป็น ทุ่นระเบิดแบบ PMN‑2 ซึ่งมีการติดตั้งใหม่ ไม่ใช่ทุ่นระเบิด ตกค้าง และตรวจพบอีก 3 ลูกในพื้นที่เดียวกัน PMN-2 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีชนวนระเบิดในตัว ซึ่งทำอันตรายบริเวณฝ่าเท้าผู้เหยียบ ตัวทุ่นทำจากวัสดุพลาสติก จึงตรวจสอบและค้นหาได้ยาก ในความเป็นจริงคือ ไทย และเขมรต่างได้ลงนามใน 'อนุสัญญาออตตาวา' เป็นที่เรียบร้อยมาหลายปีแล้ว โดยอนุสัญญาดังกล่าวเป็นอนุสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิด หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการทำลายทุ่นระเบิด” (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) มีชื่อย่อว่า 'อนุสัญญาออตตาวา' (Ottawa Treaty)
อนุสัญญานี้มีเป้าหมายหลักในการห้ามใช้งานทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mines) ซึ่งเป็นอาวุธที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพลเรือน แม้ในยามหลังสงครามสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม โดยมีข้อผูกพันหลักของประเทศภาคีดังนี้ :
- ห้ามใช้ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งออกแบบมาให้จุดชนวนโดยการปรากฏตัวใกล้ชิด
หรือด้วยการสัมผัสของบุคคล
- ห้ามผลิต หรือพัฒนาอาวุธประเภทนี้
- ห้ามสะสมทุ่นระเบิดไว้ในคลังอาวุธ
- ห้ามส่งออก หรือขนย้ายทุ่นระเบิดไปยังประเทศอื่น
- ทำลายทุ่นระเบิดที่มีอยู่ ภายใน 4 ปีหลังการเข้าเป็นภาคี
- ต้องทำลายพื้นที่ทุ่นระเบิดทั้งหมดภายในอาณาเขตของตนภายใน 10 ปี แม้ว่าอาจขยาย
- เวลาได้ภายใต้สถานการณ์บางอย่างก็ตาม
- ต้องให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด รวมไปถึงการฟื้นฟูร่างกายและ
- จิตใจ
- รัฐภาคีจะต้องรายงานเกี่ยวกับคลังเก็บทุ่นระเบิด ลักษณะทางเทคนิคของทุ่นระเบิด ที่ตั้ง
- ของพื้นที่ทุ่นระเบิด และความคืบหน้าของโครงการทำลายทุ่นระเบิดเป็นรายงานประจำปี
- เกี่ยวกับความคืบหน้าในการปฏิบัติตามอนุสัญญาทุกปี
สถานะของอนุสัญญา เริ่มมีการให้ลงนามในปี ค.ศ. 1997 ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มีนาคม 1999 มีประเทศลงนามและให้สัตยาบันแล้วมากกว่า 160 ประเทศ อนุสัญญาออตตาวาถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากทุ่นระเบิดซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก และขัดขวางการพัฒนาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อห้ามอาวุธประเภทนี้
ซึ่งนำโดยแคนาดาและองค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ แม้ว่าอนุสัญญาดังกล่าวจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ประเทศมหาอำนาจทางทหารบางประเทศ ไม่ได้เข้าร่วม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย อิสราเอล และเมียนมา ด้วยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงทางทหาร แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่อนุสัญญาดังกล่าวก็ส่งผลให้การใช้และการเข้าถึงทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคลลดลงอย่างมาก และยังกระตุ้นให้มีความพยายามในการกำจัดทุ่นระเบิดทั่วโลกอีกด้วย สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญานี้เมื่อปี พ.ศ. 2542 (1999) และได้ดำเนินการ ทำลายทุ่นระเบิดในคลังทั้งหมดแล้ว มีการดำเนินงาน เก็บกู้ทุ่นระเบิด และ ฟื้นฟูพื้นที่ชายแดน หลายจุด ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่บางส่วนที่อาจยังมีทุ่นระเบิด โดยเฉพาะแนวชายแดนไทย-เขมร
เขมรเข้าเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญาออตตาวา เมื่อ 3 มกราคม 2000 โดยได้รับการรับรองเมื่อ 28 กรกฎาคม 1999 มีผลบังคับใช้สำหรับเขมร เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ด้วยเขมรประสบปัญหาทุ่นระเบิดจำนวนมาก ซึ่งเป็นมรดกจากความขัดแย้งหลายทศวรรษ (ยุคเขมรแดง สงครามกลางเมือง และความขัดแย้งในภูมิภาค) จึงมีการกำจัดทุ่นระเบิดและช่วยเหลือเหยื่ออย่างแข็งขัน โดยมีองค์กรต่าง ๆ เช่นศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดเขมร (CMAC) มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติการกวาดล้าง และได้รับการสนับสนุนและเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อความพยายามในการกำจัดทุ่นระเบิด กองทัพเขมรอ้างว่า ได้ทำลายคลังทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดที่มีตามที่สนธิสัญญากำหนดไว้
แต่ทุ่นระเบิด แบบ PMN‑2 ซึ่งมีการติดตั้งใหม่ เป็นทุ่นระเบิดจากรัสเซีย และไม่เคยมีใช้ในกองทัพไทย จึงเป็นไปได้สูงมากที่ทหารเขมรจะนำมาลักลอบวางเอาไว้ในดินแดนไทย และกองทัพเขมรเองก็ไม่ได้ทำลายทุ่นระเบิดที่มีอยู่ ภายใน 4 ปีหลังการเข้าเป็นภาคี ซึ่งต้องทำลายให้หมดก่อน 1 มกราคม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) ถือได้ว่า เขมรจึงละเมิด "อนุสัญญาออตตาวา" อย่างชัดเจน แม้จะไม่มีบทลงโทษเมื่อมีการละเมิด แต่อนุสัญญานี้ก็มีหลายมาตรการที่ถือเป็นการลงโทษหรือแรงกดดัน ดังนี้ :
- การประณามจากรัฐภาคีอื่น ประเทศที่ละเมิดอาจถูกประณามในที่ประชุมรัฐภาคีประจำปี ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ
- แรงกดดันทางการทูตและการเมือง การละเมิดอาจนำไปสู่การกดดันทางการทูต เช่น การระงับความช่วยเหลือ การตัดสัมพันธ์บางส่วน
- การระงับสิทธิ์บางประการในอนุสัญญา เช่น การถูกจำกัดบทบาทในการออกเสียง หรือการถูกปฏิเสธความร่วมมือทางเทคนิค
- การเผยแพร่รายงานการละเมิดต่อสาธารณะ รายงานการละเมิดจะถูกรายงานต่อประชาคมโลกผ่านสื่อและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ICBL (International Campaign to Ban Landmines)
- การตัดความช่วยเหลือหรือความร่วมมือทางเทคนิค ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามอาจไม่ได้รับการสนับสนุนในการกู้ทุ่นระเบิดหรือการช่วยเหลือเหยื่อจากองค์กรระหว่างประเทศ
ดังนั้น เมื่อทหารเขมรลักลอบเข้ามาวางทุ่นระเบิด แบบ PMN‑2 ในดินแดนไทย นอกจากจะเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยแล้ว ยังเป็นการละเมิดและฝ่าฝืนข้อกำหนดตามอนุสัญญาออตตาวาอย่างชัดเจนอีกด้วย รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศต้องดำเนินการประท้วง เพื่อให้รัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวาได้ร่วมประณามและลงโทษในการกระทำของเขมรในครั้งนี้โดยเร็วที่สุด
เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล