สพฐ.ระดม11ภาคีทำแผน Zero Dropout ไม่ปล่อยให้เด็กหลุดนอกระบบ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพมหานคร ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ “Set Zero Dropout Symposium 2025” และจัดทำแผนทิศทางการขับเคลื่อนรวมพลังหุ้นส่วนการศึกษา สู่เป้าหมาย Zero Dropout
พร้อมทั้งร่วมพิธีแสดงเจตนารมย์ และมอบเกียรติบัตรให้แก่หุ้นส่วนการศึกษา จาก 11 หน่วยงาน TZD โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เสมา 1 พร้อม สพฐ. ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช แก้หนี้ครู ปรับระบบการศึกษา
'ปลอดทอยพอด' สสส. ลุย 'FAKE OR FRESH?'สอนเด็กรู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า
แก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์
โดย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล กล่าวว่า ในนามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิด และร่วมรับฟังแนวทางการขับเคลื่อนพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญยิ่งของประเทศ นั่นคือ ‘การไม่ปล่อยให้เด็กคนใดหลุดออกจากสายตาของระบบการศึกษา’
วันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่เรารวมพลังของหน่วยงาน 11 ภาคี ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout – เด็กทุกคนต้องได้เรียน และเรียนในแบบที่เหมาะกับเขา
ออกแบบทิศทางการขับเคลื่อน Zero Dropout
สิ่งที่เรามาร่วมกันในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘เวทีวิชาการ’ แต่คือ ‘เวทีของการลงมือเปลี่ยนแปลง’ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนเห็น ว่าโรงเรียนไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่คือระบบที่พร้อมจะปรับตามชีวิตของเด็กแต่ละคน ทั้งในรูปแบบของหนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบ โรงเรียนมือถือ ศูนย์การเรียน หรือ การจัดการศึกษาควบคู่อาชีพที่สะท้อน ‘ชีวิตจริงเป็นห้องเรียน’
"ผมขอขอบคุณครูและโรงเรียนนำร่องทุกแห่ง ผู้แทนจากเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และ ภาคีหุ้นส่วนจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียน เพื่อร่วมกันออกแบบทิศทางการขับเคลื่อน Zero Dropout ระยะต่อไป อย่างมีพลังและเป็นระบบ และให้การประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่ ที่ไม่ใช่แค่การตามเด็กกลับมาเรียนเท่านั้น แต่คือการ ‘ออกแบบระบบให้เด็กไม่ต้องหลุด’ ตั้งแต่แรก"รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ด้าน ดร.อนุกูล ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 ในฐานะคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ กล่าวว่า โครงการการประชุมสัมมนาวิชาการ “Set Zero Dropout Symposium 2025” และจัดทำแผนทิศทางการขับเคลื่อนรวมพลังหุ้นส่วนการศึกษา สู่เป้าหมาย Zero Dropout มี 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ
1.เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ที่ตอบโจทย์นโยบาย Thailand Zero Dropout และยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียนกลุ่มอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น
2.เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชากรวัยเรียนกลุ่มอายุ 3 – 18 ปี กับหน่วยงานระดับจังหวัดในการค้นหา พัฒนา ส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น
3.เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาในระดับภูมิภาค ที่เป็น Best Practice ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
ดร.อนุกูล กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ที่บัญญัติให้มีการดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ มาตรา 258 จ (4) ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาเด็กเล็ก การสร้างโอกาสทางการศึกษา การปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครู และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ในศตวรรษที่ 21
ดังนั้น สพฐ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงนำนโยบายขับเคลื่อน 4 มาตรการ Thailand Zero Dropout, นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, และนโยบาย สพฐ.มากำหนดเป็นมาตรการในการช่วยเหลือเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
จึงได้จัดทำโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่น (Flexible Education for Out-of-School Children and Youth Project) ซึ่งการนำนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องสร้างต้นแบบสู่การต่อยอดขยายผล และสร้างความยั่งยืนการจัดการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา