ความผันผวนในตลาดพันธบัตรโลก - พันธบัตรไทยกลายเป็นที่พักเงิน
การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในสมัยที่สอง ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างรุนแรง เนื่องมาจากนโยบายในสมัยนี้ของทรัมป์สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่เศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะนโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับสินค้าหลากหลายประเภทและจากคู่ค้าประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนึ่งในผลกระทบสำคัญคือเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าเหล่านี้ นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังสร้างความปั่นป่วนให้กับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐฯ และในหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
หลัก นอกเหนือจากนโยบายภาษีแล้ว ร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณที่เรียกว่า “One Big Beautiful Bill” ที่คลอบคลุมทั้ง การลดภาษี การปรับโครงสร้างเรื่องสวัสดิการทางสังคม รวมถึงเพิ่มงบประมาณในส่วนความมั่นคง ก็ถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ให้สูงขึ้นอีก ส่งผลให้ตลาดการเงิน
โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีความผันผวนอย่างชัดเจน เห็นได้จากอัตราพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาว อย่างช่วงอายุ 30 ปี ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2023
สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ และนำไปสู่การที่ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ S&P และ Fitch ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้สถานะความน่าเชื่อของสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในระดับสูงสุดอีกต่อไป
ความกังวลนี้ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ถือสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ โดยกระแส De-dollarization หรือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ถูกเทขายอย่างหนักจนเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับต้นปี
ภายใต้สภาวะที่โลกมีความผันผวนเช่นนี้ สินทรัพย์ที่เคยถูกมองว่าเป็น "Safe Haven" อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่เคยเป็น
ขณะเดียวกัน ตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นระยะยาว ซึ่งเคยถูกยกย่องว่าปลอดภัย ก็เผชิญแรงกดดันเช่นกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ “BOJ” และผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ญี่ปุ่นควบคุมดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ ปัจจัยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน หากสถานการณ์บานปลายจนถึงการปิดช่องแคบฮอร์มุซ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบทั่วโลก
แม้ตลาดการเงินทั่วโลกจะเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก แต่พันธบัตรรัฐบาลไทยกลับได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติเริ่มโยกเงินเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย เนื่องจากมองว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยในช่วงที่โลกเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงดังกล่าว
การจัดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในไทยและต่างประเทศจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ที่ความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีและการค้า ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการประเมินทิศทางเงินเฟ้อ กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ “Fed” อาจจำเป็นต้องชะลอการตัดสินใจด้านนโยบายการเงิน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงและเผชิญความผันผวนอยู่เป็นระยะๆ
ในทางตรงกันข้ามพันธบัตรไทยมีความผันผวนน้อยกว่า อันเป็นผลจากสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงสูง ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสและความน่าสนใจในการลงทุนในตราสารหนี้ไทย
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นอาจมีแรงขายทำกำไรจากราคาพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นเร็วเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นบ้างในช่วงเวลาสั้นๆ
อย่างไรก็ดี ในมุมมองระยะกลางถึงยาว ด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก รวมถึงปัจจัยโครงสร้างภายในประเทศที่เปราะบางควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ จากกำลังซื้อที่อ่อนแอและราคาพลังงานที่ทรงตัว
จึงยังสนับสนุนมุมมองว่า พันธบัตรรัฐบาลไทยยังสามารถให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในระดับความเสี่ยงที่ต่ำ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่นในตลาดการเงินโลก ทั้งนี้ การกระจายการลงทุนยังเป็นปรัชญาที่สำคัญในการจัดพอร์ตการลงทุน โดยเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพเป็นหลัก