ความหรูหราแบบ ‘Kawaii’ สินทรัพย์ทางเลือกในยุคแห่งความไม่แน่นอน
ปรากฏการณ์ LABUBU เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่แสดงให้เห็นว่า ‘ความน่ารัก’ เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังสำหรับแบรนด์หรูเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคยุคใหม่ แบรนด์ต่างๆ ไม่ได้เพียงแค่ขายสินค้า แต่กำลังขาย ‘ความรู้สึก’ และ ‘เรื่องราว’ ทั้งหมดคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงนิยาม ‘ของสะสมที่มีค่า’ และ ‘สินค้าหรูหรา’ ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและผู้คนโหยหาที่พึ่งทางใจดังที่จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรม ‘Kawaii’ ในญี่ปุ่นและ ‘Meng’ ในจีน เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา
แล้วทำไมแบรนด์หรูจึงต้องใช้การตลาดแบบน่ารัก?
ประการแรกเลยก็เพื่อเข้าถึง Gen Z และ Millennial ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมป๊อป, การ์ตูน, อนิเมะ, และวิดีโอเกม
‘ความน่ารัก’ คือภาษากลางที่พวกเขาคุ้นเคย การร่วมมือกับตัวละครที่รัก เป็นการสร้างความรู้สึก ‘เข้าถึงง่าย’ และทำให้แบรนด์ดูไม่แก่และน่าเบื่อ รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงทางอารมณ์เพื่อกระตุ้นความทรงจำในวัยเด็ก (Nostalgia) ซึ่งเป็นความรู้สึกเชิงบวก อบอุ่น และปลอดภัย ทำให้รู้สึกผูกพันกับแบรนด์ในระดับที่ลึกซึ้งกว่าแค่ความสวยงาม
อีกข้อสำคัญคือการสร้างกระแสไวรัลบนโซเชียลมีเดีย เพราะสินค้าที่มีตัวละครน่ารัก สีสันสดใส มักจะ ‘ถ่ายรูปขึ้น’ (Instagrammable) และง่ายต่อการถูกแชร์ต่อในแพลตฟอร์มอย่าง TikTok หรือ Instagram กลายเป็นเครื่องมือโปรโมตแบบออร์แกนิกที่มีประสิทธิภาพสูง และยังเพิ่มมูลค่าและสร้างความพิเศษ โดยเฉพาะสินค้าคอลเล็กชันพิเศษที่ผลิตในจำนวนจำกัด (Limited Edition) ทำให้เกิดความรู้สึก ‘ต้องรีบซื้อ’ และผลักดันให้ราคารีเซลในตลาดรองสูงขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านี้หลากหลายแบรนด์ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบน่ารักในรูปแบบที่แตกต่างกันไปทั้งการร่วมมือกับตัวการ์ตูนและอนิเมะเป็นการดึงเอาฐานแฟนคลับของตัวละครนั้นๆ มาสู่แบรนด์โดยตรง เช่น LOEWE x Studio Ghibli ของแบรนด์เครื่องหนังสุดหรูจากสเปนกับสตูดิโออนิเมะระดับตำนานของญี่ปุ่นในคอลเล็กชันอย่าง My Neighbor Totoro, Spirited Away, และ Howl’s Moving Castle ทำให้กระเป๋าแต่ละใบกลายเป็นงานศิลปะที่สวมใส่ได้และเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก
GUCCI x Doraemon / Disney ในยุคของ Alessandro Michele ที่นำตัวละครอย่าง Doraemon, Donald Duck, และ Mickey Mouse มาอยู่บนลายโมโนแกรม GG Supreme และ Jimmy Choo x Sailor Moon เจาะตลาดกลุ่ม Millennial ที่เติบโตมากับเซเลอร์มูนเชื่อมโยงความฝันในวัยเด็กเข้ากับพลังของผู้หญิงยุคใหม่ผ่านรองเท้าและเครื่องประดับต่างๆ
ขณะที่บางแบรนด์สร้างมาสคอตของตัวเอง เช่น FENDI Bag Bugs ที่บุกเบิกเทรนด์การห้อย ‘ตุ๊กตา’ บนกระเป๋าหรูมาก่อน LABUBU ด้วยเจ้ามอนสเตอร์ขนเฟอร์หน้าตากวนๆ ในปี 2013 ที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินหลักหมื่นเพื่อเครื่องประดับน่ารักๆ ให้กับกระเป๋าหลักแสน, Louis Vuitton’s Vivienne Mascot ตุ๊กตาไม้ที่มีหัวเป็นรูปดอกไม้ในโมโนแกรม ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เครื่องประดับไปจนถึงของแต่งบ้าน และแบรนด์นี้ยังตีความความน่ารักผ่านมุมมองศิลปินเช่น Louis Vuitton x Takashi Murakami การร่วมมือระดับตำนานในปี 2003 ที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการลักชัวรีไปตลอดกาล ผ่านลาย Monogram Multicolor, ดอกซากุระยิ้ม และตัวละครแพนด้า ซึ่งเป็นการฉีกลุคที่ดูขรึมของ LV ให้ดูสดใสและสนุกสนานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ส่วนปรากฏการณ์ LABUBU ก็ทำหน้าที่เดียวกันด้วยการมอบความสุขที่จับต้องได้ ในราคาเริ่มต้นที่ไม่สูงเกินไป (สำหรับกล่องสุ่ม) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของชีวิต การได้แกะกล่องสุ่ม, การตามหาตัวซีเคร็ต, หรือการกอดตุ๊กตาขนนุ่ม กลายเป็นการบำบัดความเครียดและความวิตกกังวลที่ทรงพลัง และยังสะท้อนนิยามใหม่ของความหรูหรา ที่ไม่ได้อยู่ที่วัสดุ แต่อยู่ที่ ความขาดแคลน และ ความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรม เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดของเทรนด์นี้ที่ของน่ารักๆ ได้กลายเป็น ‘สินค้าหรู’ ไปด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาชื่อของแบรนด์แฟชั่นใดๆ มาการันตีอีกต่อไป โดยการที่กลายเป็นไอเท็มห้อยคู่กับกระเป๋า Birkin แสดงให้เห็นว่าได้ยกระดับตัวเองเป็นสัญลักษณ์แห่งสถานะของคนที่ ‘ตามทันเทรนด์’ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนระดับโลกไปแล้ว
ความน่ารักกับการลงทุนแบบ Passion Investment
Passion Investment คือการลงทุนในสิ่งที่เรารักและหลงใหล โดยผลตอบแทนทางการเงินถือเป็นโบนัส ซึ่งของหรูหราน่ารักๆ ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะนักสะสมส่วนใหญ่เริ่มต้นจากความรักในดีไซน์ ความน่ารักปนประหลาด และความสนุกในการตามเก็บให้ครบทุกคอลเล็กชัน ความสุขที่ได้ครอบครองและเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้คือ ผลตอบแทนหลัก
ตามมาด้วยผลตอบแทนทางการเงินคือโบนัส จากความนิยมที่พุ่งสูงของแต่ละคอลเล็กชันทำให้เกิดตลาดซื้อขายต่อที่แข็งแกร่ง และอาจทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างเช่น LABUBU ตัวหายากราคาขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น Macaron Chestnut Cocoa ที่ราคาพุ่ง 741% บน StockX และสถิติการประมูล LABUBU สีเขียวมิ้นต์ในราคา 150,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 5 ล้านบาท แพงกว่ารถหรูบางคันเสียอีก
อย่างไรก็ตาม ของเหล่านี้อาจเป็นเพียงสินทรัพย์ประเภทเก็งกำไรที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมและความหลงใหล ไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัยและเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงสูงได้ มีความเข้าใจในวัฒนธรรมป๊อป และต้องการ ‘ความสุข’ จากการลงทุนเป็นอันดับแรก เพียงแต่มีโอกาสทำกำไรสูงในระยะสั้น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงหากกระแสหมดไป ความท้าทายคือการบริหารจัดการความนิยมไม่ให้ ‘ล้นตลาด’ ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วเช่นตุ๊กตา Blythe และ Beanie Babies ในอดีต
ถึงอย่างนั้น ก็เรียกได้ว่านี่คือปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งโดยการเปลี่ยน ‘ความน่ารัก’ ให้กลายเป็น ‘สินทรัพย์’ ที่มีมูลค่าทั้งทางใจและทางการเงิน เป็นบทพิสูจน์ว่าในโลกยุคใหม่ คุณค่าไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่สิ่งที่จับต้องได้ แต่ถูกสร้างขึ้นโดยชุมชน เรื่องราว และพลังของวัฒนธรรมร่วมสมัย
อ้างอิง:
- https://jingdaily.com/posts/LABUBU-mania-is-western-luxury-going-kawaii
- https://jingdaily.com/posts/from-bangkok-to-la-how-the-world-caught-LABUBU-mania
- https://jingdaily.com/posts/from-cult-toy-to-couture-LABUBU-s-ascent-is-redefining-luxury
- https://jingdaily.com/posts/LABUBU-doll-fetches-usd150k-at-china-auction-as-demand-rages
- https://robbreport.com/style/accessories/LABUBU-trend-explained-1236819184/
- https://jingdaily.com/posts/birkin-v-gold-v-LABUBU-what-retains-value-in-2025
- https://gulfnews.com/lifestyle/7-most-expensive-LABUBU-in-the-world-record-breaking-sales-that-shocked-collectors-1.500177403