นาทีนี้ต้องยอม 0%
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : วิมล ตัน
ลุ้นกันด้วยใจระทึกว่า ผลการเจรจารอบ 2 ของนายพิชัย ชุณวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับทีมผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) ในการยื่นข้อเสนอเพื่อต่อรองภาษีตอบโต้การค้า (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐคิดจากสินค้านำเข้าของไทยในอัตรา 36% ว่าจะออกหัวหรือก้อย?
เหมือนว่าจะมีข่าวดี ถ้าดูจากเฟซบุ๊กของ “คุณต่อ-วรภัค ธันยาวงษ์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่โพสต์เมื่อคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 แค่คำสั้น ๆ ว่า Substantial Improvement เหมือนจะบอกว่ามีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงตามนั้น หรือจะต้องมีการเจรจารอบ 3 รอบ 4 กันต่อ
แต่ไม่ว่ายังไง ไทยจะต้องต่อรองให้ลดให้ได้สถานเดียว
เพราะอัตราที่ 36% ยืนยันประสานเสียงมาจากผู้ส่งออกไทย ทั้งในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทยว่า 36% คือ ตายลูกเดียว ต้นทุนสินค้าไทยจะพุ่งหลุดโลกจนแข่งขันไม่ได้เลย
ความเสียหายจะมหาศาลนับเป็นล้านล้านบาท หากประเมินจากสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมด ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเจ้าของสินค้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโรงงานผลิตที่มีคนงานเป็นร้อยเป็นพันอาจต้องลด-เลิกจ้างงาน รวมถึงบริษัทคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเชน บริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนประกอบในสินค้านั้น ล้วนได้รับผลกระทบกันเป็นลูกระนาด
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด และในอีกฐานะ คือ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้ความเห็นว่า หากประเมินจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่เป็นแค่ 2 ประเทศในเอเชียขณะนี้ที่ได้ดีลจากสหรัฐแล้ว
โดยเวียดนามลดอัตราภาษีเหลือ 20% ส่วนอินโดนีเซียได้ 19% บ่งบอกให้รู้ว่าไทยในฐานะที่เป็นคู่แข่งของเวียดนามกับอินโดนีเซียจะต้องเจรจาเพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ใกล้เคียง หรือในกรณีหนักสุด คือ จะต้องไม่เกิน 25% ถึงจะพอสูสี แข่งขันได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ส่งออกไทยจะต้องมีการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนให้สามารถยืนหยัดบนเวทีการค้าโลกได้ในอนาคต
แต่ถ้า 36% ไม่รอดแน่นอน !!
และหากประเมินจากข้อเสนอที่เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ต้องหยิบยื่นให้กับสหรัฐ เพื่อแลกกับการลดภาษี จะมีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการของสหรัฐ ที่เราคงปฏิเสธได้ยาก นั่นคือ ทั้งคู่ยอมลดภาษี 0% สำหรับการนำเข้าสินค้าสหรัฐทั้งหมด
ดังนั้น ถึงเวลาที่คนไทยต้องยอมรับชะตากรรม ด้วยการเปิดให้สินค้าสหรัฐเข้ามาแบบ 0% เช่นเดียวกัน
ดร.กอบศักดิ์เห็นว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้าเกษตร อาจจะไม่กี่แสนล้านบาท แต่เทียบไม่ได้กับความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรม ถ้าเจอภาษี 36% แล้วส่งออกไม่ได้นับเป็นล้านล้านบาท นอกจากนี้ การชดเชยเยียวยาให้กับภาคเกษตร ก็เป็นเรื่องที่ไทยทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว
โดยเฉพาะสินค้าสำคัญ อย่าง “หมู” ซึ่งสหรัฐต้องการเข้ามาเมืองไทยมาก ด้วยเหตุที่สหรัฐเป็นเจ้าตลาด โดยเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูถึงปีละ 12.6 ล้านตัน คิดเป็นอันดับ 3 ของโลก และส่งออกอันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณการส่งออกที่ 3.2 ล้านตัน หรือคิดเป็น 31% ของปริมาณการส่งออกหมูทั่วโลก
หมูจึงเป็นสินค้าสำคัญของอเมริกา ยังไง ๆ ไทยก็คงปฏิเสธไม่ได้แล้ว แม้ว่าจะใช้ข้ออ้างว่า หมูสหรัฐปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงก็ตาม
วิธีการรับมือ ก็แค่สร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่าง ระหว่าง “หมูไทย” กับ “หมูอเมริกา” เหมือนเวลาเราเข้าร้านปิ้งย่าง ยากินิคุ จะมี “เนื้อวากิว ญี่ปุ่น” หรือ “เนื้อออส” และ “เนื้อโคขุนโพนยางคำ” เพื่อให้ผู้บริโภคคนไทยเลือกเองว่าอยากจะกินหมูไทย เพื่อช่วยคนไทยกันเอง หรือจะอยากลองลิ้มหมูจากอเมริกา ที่มีราคาถูกกว่าแน่นอน
เป็นการสร้างค่านิยม “ไทยนิยมไทย” เพื่อสนับสนุน “ไทยทำ ไทยใช้ และไทยก็จะเจริญ” เป็นยุทธการรับมือการต่อสู้กันในเวทีโลก
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากันแบบตามอำเภอใจ
ที่นับวันจะยิ่งหนักข้อขึ้นทุกที ๆ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นาทีนี้ต้องยอม 0%
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net