ตีปี๊บกม.จัดการเงิน‘วัด-พระ’
"เพื่อไทย" เดินหน้าร่างกฎหมายจัดการเงินวัดและพระ พร้อมเปิดประชาชนร่วมแสดงความเห็น "กมธ.ศาสนา" ชงญัตติวุฒิสภาเร่งสางปัญหาวิกฤตพุทธศาสนา "พระธรรมวชิรธีรคุณ" ดอดสึกกลางดึก หลังตกเป็นข่าวฉาว "วัดนครสวรรค์" แถลงการณ์แจงเสียสละลาสิกขา โต้ข้อกล่าวหาทุจริตสร้างพุทธอุทยานนครสวรรค์ ตร.เร่งสอบเส้นเงิน พบหลักฐานมัดสัมพันธ์เศรษฐินี โพลชี้คนเสื่อมศรัทธา หนุนปราบอลัชชี ชื่นชม "บิ๊กเต่า"
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกระแสการตรวจสอบวงการสงฆ์ว่า พรรคเพื่อไทยมีความห่วงใยอย่างยิ่งกรณีกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อและความศรัทธาของประชาชนชาวไทยที่ยึดมั่นในพุทธศาสนา จึงขอให้ประชาชนอย่าเหมารวมถึงศาสนาหรือพระสงฆ์ทั้งหมด เพราะยังเชื่อว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและอยู่ในศีลธรรม และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ก่อให้เกิดปัญหา
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาล กำลังผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยจะมีการร่างกฎหมายเพื่อจัดการการเงินวัดและการเงินของพระสงฆ์ให้อยู่ในระบบบัญชีที่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการพัฒนากฎหมายอื่นๆ เพื่อดูแลและฟื้นฟูพระสงฆ์และศาสนาในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและศาสนิกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมมากที่สุด
ทางด้านนางเอมอร ศรีกงพาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ได้เสนอญัตติให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เนื่องจากพฤติกรรมของพระสงฆ์หลายรูปบั่นทอนความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการบรรจุเข้าเป็นวาระ และคาดว่าจะพิจารณาได้ทันในวันที่ 22 ก.ค.นี้
"จึงควรที่จะมีการอภิปรายระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน และเสนอไปยังรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อเรียกคืนความศรัทธา และปกป้องคุ้มครอง ธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตที่เป็นสัมมาทิฐิของพุทธศาสนิกชนชาวไทย" นางเอมอรระบุ
นายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า พระธรรมวชิรธีรคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ได้ลาสิกขาแล้ว ณ พระอุโบสถวัดนครสวรรค์ เวลา 23.49 น. กลางดึกคืนวันที่ 19 ก.ค. โดยก่อนหน้านั้น พระธรรมวชิรธีรคุณได้ทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ และเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ระบุว่า ได้อาพาธและสุขภาพไม่อำนวย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ และปฏิบัติหน้าที่พระสังฆาธิการ อีกทั้งได้ตกเป็นข่าวด้านลบทางสื่อสารมวลชน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์โดยรวมต่อไป ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.2568 เป็นต้นไป
นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.พศ. กล่าวว่า การลาสิกขาของพระธรรมวชิรธีรคุณ เป็นการดำเนินการของคณะสงฆ์ ทันทีที่ทราบเรื่อง ส่วนในเรื่องคดีความกรณีการสร้างพุทธอุทยานนครสวรรค์นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบต่อไป สำหรับเรื่องการจัดระเบียบบัญชีทรัพย์สินของวัดนั้น ตามที่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไปนั้น ในการประชุมมหาเถรฯ วันที่ 21 ก.ค.นี้ จะมีการนำแนวทางในการเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีทรัพย์สินวัด เพิ่มบทบาทหน้าที่ พศ. เข้าไปร่วมดำเนินการมากขึ้น
พบหลักฐานมัดทิดสฤษดิ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลพยานหลักฐานที่มีผู้ร้องเรียนส่งมายังศูนย์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เกี่ยวกับพฤติกรรมสัมพันธ์ฉาวระหว่างอดีตพระธรรมวชิรธีรคุณ หรือ ทิดสฤษดิ์ กับเศรษฐินีประจำจังหวัดนครสวรรค์นั้น จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ยังพบข้อมูลสำคัญว่า ทิดสฤษดิ์อาจมีการกระทำผิดคดีอาญาในเรื่องการทุจริตเงินของวัดไปใช้ส่วนตัว โดยหลักฐานดังกล่าวเป็นแชตข้อความสนทนาระหว่างทิดสฤษดิ์กับเศรษฐินีคนดังกล่าว ที่เชื่อว่าคบหาอยู่กินฉันสามีภรรยามานานกว่า 15 ปี โดยมีการระบุข้อความในทำนองทิดสฤษดิ์จะเป็นคนจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด ให้กับเศรษฐินีคนดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลแนวทางสืบสวนที่พบว่าทิดสฤษดิ์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการก่อสร้างพุทธอุทยาน ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งตำรวจเร่งสอบอย่างละเอียดต่อไป
นอกจากนี้ แม้พยานหลักฐานที่ผู้ร้องเรียนส่งมาให้ตำรวจจะไม่มีคลิปหรือภาพลับในลักษณะร่วมหลับนอนด้วยกัน แต่มีบางภาพที่บ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือผิดวินัยสงฆ์อย่างร้ายแรง อาทิ ภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือขณะที่ทิดสฤษดิ์กำลังวิดีโอคอลพูดคุยกับเศรษฐินีคนดังกล่าวในช่วงเวลากลางคืน รวมไปถึงภาพถ่ายคู่กันภายในห้องสองต่อสอง ซึ่งบางภาพที่ถูกบันทึกไว้ในขณะที่ทิดสฤษดิ์ถอดเสื้อ สวมเพียงแค่วิกผม กำลังยืนกอดคอกับเศรษฐินีดังกล่าว
วันเดียวกัน วัดนครสวรรค์ พระอารามหลวง ออกแถลงการณ์เรื่อง การลาออกจากตำแหน่ง และการลาสิกขา ของพระธรรมวชิรธีรคุณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ มีใจความว่า 1.พระธรรมวชิรธีรคุณได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ รวมทั้งมีความประสงค์จะลาสิกขา โดยการตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัว จึงขอเสียสละเพื่อความเรียบร้อยดีงามในพระพุทธศาสนา
2.เรื่องข้อกล่าวหาเรื่องการเงินเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินอย่างไม่โปร่งใส วัดนครสวรรค์ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากพระธรรมวชิรธีรคุณ ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ จึงมีตำแหน่งเป็นประธานโครงการก่อสร้างพุทธอุทยานอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยทุกโครงการในพุทธอุทยานนครสวรรค์ได้กระทำในรูปแบบคณะกรรมการ มีคณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ร่วมกันในการบริหารจัดการและก่อสร้าง มีการทำเอกสารหลักฐานการเงินและการจัดทำบัญชีที่สามารถตรวจสอบได้ การก่อสร้างมีการโกงเงินตามที่เป็นคดีความ ทางพุทธอุทยานนครสวรรค์ได้ฟ้องร้องและชนะคดีความ โดยผู้ที่โกงเงินไปยังหลบหนีหมายจับและไม่ใช้หนี้ตามคำพิพากษาให้กับโครงการก่อสร้าง จึงเป็นเหตุให้การก่อสร้างล่าช้า
วัดนครสวรรค์ยืนยันความโปร่งใสในการบริหารจัดการ และพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อคลี่คลายข้อข้องใจและรักษาเกียรติภูมิของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ขอให้สื่อมวลชนและประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการรับหรือเสนอข่าวสาร
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “วิกฤตพระพุทธศาสนา!” ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค.2568 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 76.11 ระบุว่าพระสงฆ์จำนวนหนึ่ง ตัดไม่ขาดจากทางโลก ทำให้มีข่าวฉาวเป็นประจำ เช่น เสพยาบ้า ดื่มสุรา เล่นการพนัน ยุ่งสีกา รองลงมา ร้อยละ 45.95 พระสงฆ์จำนวนหนึ่ง หลงในลาภ ยศ สรรเสริญและตำแหน่งทางสงฆ์
ด้านความศรัทธาของประชาชนต่อศาสนาและพระสงฆ์ จากกรณีข่าวฉาวของพระสงฆ์ในปัจจุบัน พบว่า 1.ความศรัทธาในพระสงฆ์ ร้อยละ 58.40 ระบุว่าลดลง และร้อยละ 41.60 เท่าเดิม 2.ความศรัทธาในศาสนาพุทธ ร้อยละ 68.55 ระบุว่าเท่าเดิม และร้อยละ 31.45 ลดลง
ชื่นชมบิ๊กเต่าจับอลัชชี
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่กำหนดโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ พระสงฆ์และ/หรือฆราวาส ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พบว่า 1.พระสงฆ์ที่ต้องอาบัติปาราชิก หรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ร้อยละ 80.76 ระบุว่าเห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 13.59 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 3.82 ไม่ค่อยเห็นด้วย 2.หญิงหรือชายสมัครใจเสพเมถุนกับพระภิกษุหรือสามเณร ร้อยละ 78.17 ระบุว่าเห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 15.03 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 3.97 ไม่ค่อยเห็นด้วย 3.พระสงฆ์อวดอุตริมนุสธรรม ร้อยละ 68.63 ระบุว่าเห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 17.56 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 8.55 ไม่ค่อยเห็นด้วย
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ปกป้องศาสนาและศรัทธาของประชาชน ระหว่างวันที่ 16-19 ก.ค.2568 จำนวน 1,143 คน เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทปกป้องศาสนาและศรัทธาของประชาชน พบว่า “ตำรวจ” ได้รับความพึงพอใจสูงที่สุด คือ 80.1% ในขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตามมาในลำดับที่สอง 72.3%, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รับความพึงพอใจ 70.6%, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้รับความพึงพอใจ 65.8% และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งควรเป็นเสาหลักในการส่งเสริมศาสนา กลับได้รับเพียง 41.2%
ที่น่าสนใจคือ ประชาชนถึง 78.5% พอใจต่อการจับกุมพระหรือบุคคลในสมณเพศที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องห้ามทางศาสนา ซึ่งถือเป็นการล่วงละเมิดจริยธรรมและศีลธรรมขั้นร้ายแรง, 74.2% พอใจต่อการดำเนินคดีทางกฎหมายกับพระสงฆ์ที่ยักยอกเงินวัดหรือเงินบริจาค, 73.1% สนับสนุนการตรวจสอบทรัพย์สินของพระสงฆ์และฆราวาสที่เกี่ยวข้องกับวัด เพื่อป้องกันการสะสมทรัพย์เกินควรหรือผิดวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนได้ยกย่องบุคคล 5 อันดับแรกที่มีบทบาทโดดเด่นในการเปิดโปงหรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ทำผิด ได้แก่ อันดับหนึ่ง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว (บิ๊กเต่า) ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดถึง 74.6%, อันดับสอง หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ได้รับ 73.4%, อันดับสาม ได้แก่ แพรรี่ ทิดไพรวัลย์ ได้รับ 69.8%, อันดับสี่ ได้แก่ อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ได้รับ 64.3% และอันดับห้า ได้แก่ สื่อมวลชนทั่วไป ได้รับ 59.1%.