เปิดปมใช้งบรีโนเวทตึก 8 หมื่นล้าน ข้ออ้างทรัมป์ขู่ไล่ออก ปธ.เฟด 'พาวเวลล์'
โครงการปรับปรุงรีโนเวทอาคารธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ดำเนินการมายาวนานหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจของสาธารณชนจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
WSJ รายงานว่า มีน้อยคนนักที่จะสังเกตเห็นเมื่ออดีตนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดเผยแพร่รายงานเมื่อช่วงต้นปี 2568 นี้ เกี่ยวกับ "ต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น" ในการปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่ของเฟด หลายเดือนต่อมาการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องงบที่คลุมเครือนี้ได้กลายเป็น "หัวใจสำคัญ"ในแคมเปญกดดันประธานเฟด "เจอโรม พาวเวลล์" ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามปลดเขาออกจากตำแหน่ง
หากพูดกันในแง่กฎหมาย ทรัมป์อาจจะไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการไล่พาวเวลล์ออก ด้วยเหตุผลไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ทรัมป์กดดัน เนื่องจากสหรัฐมีกฎหมายคุ้มครอง Federal Reserve Act of 1913 กฎหมายนี้ไม่ได้ให้อำนาจประธานาธิบดีในการไล่ออกประธานเฟดได้ และประธานเฟดเป็นตำแหน่งที่ได้รับการรับรองจากวุฒิสภา จะปลดได้ก็ต่อเมื่อปลดจากตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการเฟดทั้งหมด ซึ่งต้องมี “เหตุอันสมควร” เช่น การกระทำความผิดอย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาของทรัมป์กำลังมองว่า "โครงการรีโนเวทอาคาร" ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์" (กว่า 8 หมื่นล้านบาท) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องความสิ้นเปลืองของรัฐที่อาจ "บั่นทอนความไว้วางใจของสาธารณชนต่อพาวเวลล์" ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานเฟดจำเป็นต้องมีเพื่อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรณีนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่เมื่อวานนี้เมื่อมีรายงานข่าวจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มที่จะปลดพาวเวลล์ออกจากตำแหน่งในเร็วๆ นี้ และได้หารือถึงความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ในการประชุมกับสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันเมื่อคืนวันอังคาร แต่หลังผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทรัมป์ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องที่เขาจะปลดพาวเวลล์ "เว้นแต่เขาจะต้องลาออกเพราะการฉ้อโกง"
ทำเนียบขาวพยายามชี้ให้เห็นถึงประเด็น "ต้นทุนการก่อสร้างที่บานปลาย และการก่อสร้างด้วยหินอ่อน" เพื่อหวังบ่อนทำลายความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อพาวเวลล์ หรือทำให้เกิดเป็นคดีความทางกฎหมายเพื่อบีบให้เขาออกจากตำแหน่ง หรือทั้งสองอย่าง
ที่ผ่านมา ทรัมป์เคยเสนอแนวคิดที่จะปลดพาวเวลล์ออกจากตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่ที่ยังเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก และมาซ้ำอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ แต่เขากลับล้มเลิกแนวคิดนี้ทั้งสองครั้งหลังจากที่ปรึกษาหลายคนแนะว่า อาจพ่ายแพ้ในชั้นศาล และในตลาดการเงิน
เหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มผู้ภักดีต่อทรัมป์ยิ่งโจมตีประธานเฟดรุนแรงขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่โครงการรีโนเวทอาคารของเฟดในวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้วว่า อาจเป็นเครื่องมือที่จะทำให้พาวเวลล์ต้องอับอายขายหน้า โดยคาดหวังว่าเขาจะลาออก หรือกลายเป็นคดีที่ถูกขับออกจากตำแหน่งโดยศาล
เจมส์ แบลร์ ที่ปรึกษาทางการเมืองอาวุโสประจำทำเนียบขาวรายหนึ่ง ได้เยาะเย้ยโครงการก่อสร้างอาคารของเฟดด้วยการแชร์ภาพที่พาวเวลล์สวมบทบาทเป็น "มารี อองตัวเน็ตต์" บนโซเชียลมีเดียพร้อมข้อความว่า “Let them eat basis points,” ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่อีกรายซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทรัมป์ ก็ได้ออกแถลงการณ์ขยายข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริงบนอินเทอร์เน็ตว่าพาวเวลล์จะลาออก
ทั้งนี้ กฎหมาย Federal Reserve Act of 1913 ระบุว่าผู้กำหนดนโยบายสามารถถูกปลดออกได้เฉพาะ "ด้วยเหตุผลอันสมควร" เท่านั้น ซึ่งถูกตีความว่าหมายถึงการประพฤติมิชอบหรือการละทิ้งหน้าที่ และบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างก็สงสัยว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ที่จะได้รับการอนุมัติจากศาลให้ปลดพาวเวลล์ออกจากตำแหน่ง
กลยุทธ์ที่แท้จริงของรัฐบาลจึงน่าจะเป็นการสร้างความเสียหายทางการเมือง เพื่อบีบให้พาวเวลล์ลาออก หรือยอมจำนวนต่อแรงกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้ "ศาลประชาชน" มากกว่าศาลจริงๆ ในเชิงกฎหมาย
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทรัมป์ปลดพาวเวลล์
ทางด้าน CNBC ได้รายงานบทวิเคราะห์ล่าสุดจาก Wolfe Research ซึ่งวิเคราะห์ "สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหาก ปธน.ทรัมป์ ปลดเจอโรม พาวเวลล์ ออกจากตำแหน่ง" โดยเตือนว่าไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร “มันจะกลายเป็นความวุ่นวายอย่างแน่นอน”
“เราคาดการณ์เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ว่า เรื่องนี้จะส่งผลลบอย่างมากต่อตลาด ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการเทขายหุ้น และผลตอบแทนระยะยาวพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” โทบิน มาร์คัส และชูตง จู จากวูลฟ์ รีเสิร์ช ระบุในบันทึกถึงนักลงทุนซึ่งออกมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่มีข่าวลือแพร่สะพัดเรื่องการปลดพาวเวลล์ และคาดการณ์ว่าที่สุดแล้ว ศาลฎีกาอาจจะเป็นผู้ตัดสินว่าทรัมป์มีอำนาจในการปลดพาวเวลล์ด้วยเหตุผลใดหรือไม่
ทางด้านโรเจอร์ อัลท์แมน ผู้ก่อตั้งบริษัทเอฟเวอร์คอร์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยคลังในยุคประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวกับ CNBC ว่า “มีแนวคิดแย่ๆ มากมาย แต่การที่ประธานาธิบดีจะไล่ประธานเฟดออก หรืออาจต้องเรียกว่าพยายามไล่เขาออก เพราะผมยังไม่แน่ใจเลยว่าเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ถือเป็นหนึ่งในแนวคิดที่แย่ที่สุด”
อัลท์แมนชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างวิถีเศรษฐกิจของประเทศที่มี "ธนาคารกลางที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง" เช่น สหรัฐ กับประเทศที่ "ทำให้ธนาคารกลางถูกควบคุมทางการเมืองโดยผู้นำประเทศต่างๆ" โดยยกตัวอย่าง "ตุรกี และอาร์เจนตินา" เป็นสองตัวอย่าง ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีอัตราเงินเฟ้อในตัวเลขสองหลัก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้นอัลท์แมน กล่าวว่า “ผมไม่คิดว่าประธานพาวเวลล์จะยินยอมตามคำขอให้ลาออก” หากทรัมป์ยื่นคำร้อง “ดังนั้นผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้จะได้รับการแก้ไขในชั้นศาล”
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์